รีวิว แนะนำ แหล่งท่องเที่ยวเชียงราย และกิจกรรมต่างๆ สถานที่สำคัญของเชียงราย ประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์ของแต่ละจังหวัด แล้วท่านจะรู้ที่มาที่ไปของแต่ละชื่อแต่ละเมือง เช่น แม่สาย เชียงแสน ดอยตุง ดอยช้าง ภูชี้ฟ้า สามเหลี่ยมทองคำ กษัตริย์ล้านนา

Custom Search

ประวัติการสร้างเมืองเชียงรายโดยย่อ ๒

ประวัติการสร้างเมืองเชียงรายโดยย่อ ตอนนี้เป็นตอนที่สองแล้ว และเป็นตอนสุดท้ายสำหรับชุดนี้ ที่ได้รวบให้เป็นรูปแบบที่สั้นมากๆ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลามาก อ่านแป๊บเดียวก็สามารถมองภาพของเมืองเชียงรายได้ โดยย้อนนึกประวัติศาสตร์หัวเมืองเหนือแถบนี้ไปแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งก็เป็นประโยชน์มากสำหรับผู้เรียนเช่นกัน เพื่อจะได้เข้าใจง่ายมากขึ้น

พ.ศ. ๑๘๐๒ เมื่อพระเจ้าเมงราย มีพระชนม์ได้ ๒๒ ปี ได้ขึ้นครองราชย์ที่นครเงินยาง และได้เริ่มรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่นเมืองมอบ เมืองเชียงคำ เมื่องเชียงช้าง เป็นต้น
พ.ศ. ๑๘๐๕ พระยาเมงราย ได้แผ่ขยายอำนาจไปทางใต้ ณ เมืองลาวกู่เต้า ตำบลเต่าร้อย ช้างมงคลได้พลัดหลงไป เพราะองค์ได้เสด็จตามช้างไปจนถึงดอยจอมทอง ริมน้ำแม่กกนที เห็นภูมิประเทศเป็นชัยภูมิที่ดี จึงได้สร้างเมืองโดยโอบเอาดอยจอมทองไว้ ขนานนามว่า เมืองเชียงราย
พ.ศ. ๑๘๑๙ พระยาเมงราย ยกกองทัพไปติดเมืองพะเยา พระยางำเมือง เมืองพะเยา เห็นว่าจะสู้ด้วยกำลังมิได้ จึงยกกองทัพออกไปรับ ขอเป็นมิตรกัน
พ.ศ.๑๘๒๓ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระยาเมงราย และพระยางำเมือง ทรงกระทำสัตย์ปฏิญาณ โดยทรงเอาโลหิตที่นิ้วพระหัตถ์รวมผสมกับน้ำสัตย์เสวย สัญญาว่าจะไม่เบียดเบียนกันตลอดชีวิต
พ.ศ. ๑๘๖๐ พระยาเมงรายถูกฟ้าผ่าสวรรคต ขณะเสด็จประพาสตลาดกลางเมืองเชียงใหม่
พ.ศ. ๑๘๖๑ พระยาไชยสงคราม ราชโอรส ขึ้นครองเมืองเชียงราย
พ.ศ. ๑๘๗๐ พระยาไชยสงครามสวรรคต พระยาแสนภู โอรสองค์ใหญ่ กลับมาครองเมืองเชียงราย
พ.ศ.๑๘๗๑ พระยาแสนภูได้ไปสร้างเมืองใหม่ ณ บริเวณเวียงไชยบุรีเดิม ตั้งชื่อว่า หิรัญนครชัยบุรีศรีเชียงแสน ต่อมาจึงเรียกว่า เชียงแสน จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. ๑๙๐๘ พวกฮ่อมารบกวนเมืองเชียงแสน แต่ก็พ่ายไป
พ.ศ. ๒๑๐๑ เชียงใหม่ เชียงแสน และเชียงราย ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า (สมัยบุเรงนอง)
พ.ศ. ๒๓๔๙ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ พระยายมราช ยกกองทัพไปขับไล่พม่าออกไปสำเร็จ และเผาเมืองเชียงแสนเสียสิ้น กวาดต้อนเอาผู้คน ๒๓,๐๐๐ ครอบครัว แบ่งเป็น ๕ ส่วนไปอยู่เมืองเชียงใหม่ ลำปาง น่าน เวียงจันทน์ และกรุงเทพฯ โดยโปรดเกล้าฯให้กลุ่มที่ลงไปกรุงเทพฯไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ เมืองสระบุรี และเมืองราชบุรี
พ.ศ. ๒๔๑๓ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ มีพวกพม่า ลื้อ เขิน เมืองเชียงรุ้ง ๓๘๑ คน ยกครอบครัวมาอยู่เมืองเชียงแสน
พ.ศ. ๒๔๑๗ เจ้าอินทวิไชยยานนท์ เจ้านครเชียงใหม่ ยกพล ๔,๕๐๐ คน ไปไล่ต้อนผู้คนออกไป และให้เจ้าอินต๊ะหลานผู้ครองเมืองลำพูน นำราษฎร ๑,๕๐๐ ครัวเรือนไปอยู่ในเมืองเชียงแสน และได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาราชเดชดำรง
พ.ศ. ๒๔๓๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ จัดทำพระราชบัญญัติจัดตั้งมณฑลพายัพ โดยมีเชียงใหม่เป็นตัวมณฑล มีข้อบังคับที่เรียกว่า เค้าสนามหลาง การปกครองเริ่มจาก ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เจ้าเมือง ข้าหลวงบริเวณ และเค้าสนามหลวง ตามลำดับ ขึ้นอยู่กับกระทรวงกลาโหม
พ.ศ. ๒๔๔๐ พระยาราชเดชดำรงถึงแก่กรรม
พ.ศ. ๒๔๔๒ โปรดเกล้าฯ ตั้งนายไชยวงศ์ บุตรพระยาราชเดชดำรง เป็นพระยาราชเดชดำรง ขึ้นกับบริเวณเชียงราย และย้ายอำเภอเชียงแสนมาอยู่ ณ บริเวณอำเภอแม่จันในปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๔๔๓ โปรดเกล้าฯ ตั้งนายคำหมื่น บุตรพระยาราชเดชดำรง (อินต๊ะ) เป็นพระยาราชบุตร ขึ้นกับเมืองเชียงราย
พ.ศ. ๒๔๕๓ประกาศยกเมืองเชียงรายขึ้นเป็นเมืองจัตวา อยู่ในมณฑลพายัพ จัดแบ่งการปกครองเป็น ๑๐ อำเภอ คือ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเมืองเชียงแสน อำเภอเมืองฝาง อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอเมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภออกคำใต้ อำเภอแม่สรวย อำเภอเชียงคำ อำเภอเมืองเชียงของ โดยให้พระภักดีณรงค์ เป็นผู้ว่าราชการเมืองเชียงราย ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ของจังหวัดเชียงราย ฉบับย่อมากๆ โดยใช้ พ.ศ. หรือ ปีพุทธศักราช เป็นตัวตั้ง ผนวกเข้ากับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ของผู้บริหารในจังหวัดเชียงราย ก็คงเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านระดับหนึ่งนะครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น