รีวิว แนะนำ แหล่งท่องเที่ยวเชียงราย และกิจกรรมต่างๆ สถานที่สำคัญของเชียงราย ประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์ของแต่ละจังหวัด แล้วท่านจะรู้ที่มาที่ไปของแต่ละชื่อแต่ละเมือง เช่น แม่สาย เชียงแสน ดอยตุง ดอยช้าง ภูชี้ฟ้า สามเหลี่ยมทองคำ กษัตริย์ล้านนา

Custom Search

ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2556


สวัสดีครับ ช่วงนี้เป็นช่วงปีใหม่ แอบหวังลึกๆ ในใจอยู่ว่า จะมีคนขึ้นมาเที่ยวที่เชียงรายกันเยอะๆ เพราะคิดว่าที่นี่ นอกจากจะเป็น แหล่งท่องเที่ยว แล้วยังเป็นที่ที่ทำให้คุณได้สัมผัสกับความหนาวเย็น อย่างที่หวังกันไว้ เนื่องจากการอยู่ในกรุงเทพฯ ทำงานเยอะ ไม่ค่อยได้ไปเที่ยว เมื่อมาเยือนเชียงรายแล้ว  ก็ต้องได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้แน่นอน

หากใครหาแหล่งที่พักยังไม่ได้ ก็อาจจะหารายชื่อ โรงแรม ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ อะไรเหล่านี้ก็ยังได้อยู่ อาจจะหาทางอินเทอร์เนต เว็บไซต์ของโรงแรม หรือ สมุดหน้าเหลือง ก็ยังได้ 

ที่กล่าวถึงแหล่งที่พัก ไม่ได้หมายถึงโรงแรมแต่เพียงอย่างเดียวนะครับ หมายรวมถึง รีสอร์ต และ โฮมสเตย์ ซึ่งเป็นที่พักที่สุดแสนจะเป็นส่วนตัว จะได้สัมผัสกับธรรมชาติ และความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

แหล่งท่องเที่ยวของภาคเหนือมีหลายหลายที่ สามารถหาดูได้ในเว็บนี้นะครับ อย่างเชียงรายเอง ก็มีหลายแห่งที่น่าสนใจ เช่น วัดร่องขุ่น บางคนก็เรียกว่า วัดขาว ซึ่งสร้างโดยศิลปินแห่งชาติ อ.เฉลิมชัย โกษิตพิพัฒน์ บ้านศิลปินแห่งชาติอีกท่านคือ อ.ถวัลย์ ดัชนี เรามักเรียกกันอีกแบบว่า บ้านดำ นอกจากนั้นยังมีแหล่งศิลปะให้ได้ชมอีกมากมาย

แหล่งท่องเที่ยว ของภาคเหนือ ทั้งที่เป็นจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน หรือ จังหวัดอื่นๆ ก็ตาม ต้องไม่พลาดการไปนมัสการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด แต่ความนิยมก็แล้วแต่แต่ละบุคคลก็แล้วกัน

การมาเที่ยวด้วยรถส่วนตัว ก็นับว่าสะดวกดีอยู่ไม่น้อย เพราะสามารถแวะพักชมวิวที่ไหนก็ได้ แต่หลายท่าน ก็คงจะมาโดยสายการบินต่างๆ แล้วแต่ว่าจะจองตั๋วเครื่องบินตั้งแต่เมื่อไร หากจองไว้นาน หรือ ได้ราคาโปรโมชั่นก็ ได้ซื้อตั๋วราคาถูก กันละ แต่หากมัวใจเย็น ก็อาจจะต้องซื้อตัวเครื่องบินในราคาที่แพงเอาการเลยทีเดียว

เอาละวันนี้ เพียงอยากจะมาส่งข่าวว่า เมื่อมาเที่ยวเมืองเหนือแล้ว ก็ขอให้สะดวก มีความสุข ปลอดภัยด้วย 

และขออำลาปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2556 แด่ทุกท่านด้วย ไว้เจอกันคราวหน้า ขอบคุณครับ

เทศบาลนครเชียงรายพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว



เทศบาลนครเชียงรายพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว เปิดฤดูการท่องเที่ยวนครดอกไม้งามอย่างยิ่งใหญ่


เชียงรายดอกไม้งาม

         เทศบาลนครเชียงราย เปิดฤดูแห่งการท่องเที่ยวจัดงาน “นครเชียงราย นครแห่งดอกไม้งาม” พร้อมจัดกิจกรรมท่องเที่ยวต่อเนื่องถึงปีหน้า ต้อนรับทัพนักท่องเที่ยวอย่างยิ่งใหญ่อลังการ ณ สวนตุงและโคมนครเชียงราย

       นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า “เข้าสู่ฤดูหนาวปลายปีนี้ พื้นที่ภายในเขตเทศบาลนครเชียงรายจะเป็นห้องรับแขกขนาดใหญ่ ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักผ่อนในจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะพื้นที่หรือแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ของเทศบาลฯ ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถานวัดวาอารามต่างๆ รวมถึงหอนาฬิกาเฉลิม พระเกียรติฯ ที่ออกแบบก่อสร้างโดย อาจารย์ ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด ในขณะเดียวกันนายวันชัยฯ นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ได้เร่งดำเนินการปรับปรุงสถานที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณสวนตุงและโคมนครเชียงรายฯ ซึ่งจะเป็นสถานที่จัดงานและกิจกรรมต่างๆ ด้วยการตกแต่งและประดับด้วยพันธุ์ไม้สวยงามนับล้านต้นรวมถึงการประดับตกแต่งถนนหนทาง อาคารบ้านเรือนด้วยพันธุ์ไม้นานาพันธุ์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่ประทับใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาในช่วงนี้อย่างแน่นอน”

         แหล่งข่าวแจ้งว่า เทศบาลฯ ได้กำหนดแผนงานการส่งเสริมการท่องเที่ยวในปีนี้ให้มีความยิ่งใหญ่มากกว่าทุกๆ ที่ผ่านมา โดยจะมีการเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2555 ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช เป็นสัญญาณแรกเริ่มในการเปิดฤดูแห่งการท่องเที่ยว ประกอบกับเพื่อส่งเสริมให้มีกิจกรรมระดับนานาชาติ สามารถตอบสนองและรองรับการประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เทศบาลนครเชียงราย กำหนดจัดงาน “วัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 17” ควบคู่ไปกับการจัดงาน “ลอยกระทง 4 ชาติ” ขึ้น ในระหว่างวันที่ 27 – 29 พฤศจิกายน 2555 และที่สำคัญในวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2555 จะเป็นการเปิดฤดูแห่งการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่องาน “นครเชียงราย นครแห่งดอกไม้งาม” ณ บริเวณสวนตุงและโคมเชียงรายเฉลิมพระเกียรติฯ และนอกจากนี้ เทศบาลนครเชียงรายได้จัดการแสดง “ดนตรีในสวน” ณ ลานดอกไม้สวนตุงและโคมฯ ในทุกวันเสาร์โดยเริ่มวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2555 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. รวมถึงการได้รับเกียรติจากอาจารย์เฉลิมชัย  โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงรายมาร่วมสร้างสรรค์งานแสดงศิลปะ      ณ บริเวณอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช และหอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติฯ ให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่า และในวันสิ้นปี พ.ศ.2555 ด้วยการจัดงาน เฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่   พ.ศ.2556 อย่างยิ่งใหญ่พบการแสดงศิลปินชื่อดังมากมาย ณ บริเวณถนนบรรพปราการ

        นายวันชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กิจกรรมที่เทศบาลฯ จัดขึ้นทั้งหมดนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มระยะเวลา การเข้าพักของนักท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายให้มีความยิ่งใหญ่และเป็นที่ประทับใจแก่นักท่องเที่ยวอย่างไม่รู้ลืม”



ขอบคุณข้อมูล จากงานประชาสัมพันธ์เทศบาลนครเชียงราย

งานแสดงสินค้าภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง



วันนี้ ขอนำเอางานแสดงสินค้าภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มาบอกกล่าว เผื่อว่า มีผู้ที่อยากมาเที่ยวเชียงราย ในเวลาดังกล่าว จะได้มาให้ถูกเวลา
งานแสดงสินค้าภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

งานแสดงสินค้าภาคเหนือ
และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

18 - 23 SEP 2012
ณ ฝูงบิน 416 เชียงราย

หลักการเหตุผล

-กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 และกลุ่มประเทศ GMS จัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้ภายใต้ยุทธศาสตร์ พัฒนาการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ เพื่อส่งเสริม สร้างโอกาสและ เชื่อมโยงตลาดสินค้าและบริการที่มีศักยภาพกระตุ้นเศรษฐกิจ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2

ประเพณีปีใหม่ (การกินวอ)ของ ลาหู่ (มูเซอ)

ลาหู่ คำนี้เป็นชื่อของชนเผ่ากลุ่มหนึ่ง ซึ่งปกติจะอาศัยอยู่บนภูเขา ในอดีตคนพื้นราบโดยทั่วไปมักจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "มูเซอ" แต่ว่า ในระยะต่อมาก็ได้เรียกกันจนเป็นที่รับรู้ว่าเป็นชนเผ่า "ลาหู่"

การเฉลิมฉลองปีใหม่ ในภาษาลาหู่(มูเซอ) เรียกว่า ประเพณี เขาะเจ๊าเว ซึ่งแปลว่า "ปีใหม่การกินวอ" ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่บรรดาญาติมิตร ได้กลับมาร่วมงานกันที่บ้านอย่างพร้อมเพรียงเรียงหน้า ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลเมื่อทราบว่าทางหมู่บ้านตัวเองจะจัดงานดังกล่าวก็จะกลับมาร่วมกัน เทศกาลของลาหู่ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แตกต่างจากชนเผ่าอื่นๆ ซึ่งปีใหม่หรือการกินวอนี้ มีความสำคัญต่อชาวลาหู่อย่างยิ่ง เพราะเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเผ่าเสียเป็นส่วนมาก สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวคราวเรื่องดังกล่าวได้จากสื่อต่างๆ ส่วนมากแล้วชนเผ่านี้จะอาศัยอยู่จังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ เป็นต้น

ประวัติ/ความเป็นมาของอำเภอเวียงป่าเป้า 2 รายชื่อนายอำเภอเวียงป่าเป้า

ประวัติ/ความเป็นมาของอำเภอเวียงป่าเป้า 2 : รายชื่อนายอำเภอเวียงป่าเป้า

ตอนที่ 2 นะครับ

หลังจากที่ห่างหายไปนาน วันนี้ขอนำประวัติ ความเป็นมาของอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีลงอีกครั้ง เผื่อว่า มีผู้ต้องการจะนำเอาเนื้อหาเหล่านี้ไปใช้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ และบันทึกเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์หรือบันทึกสถานการณ์ต่างๆ แม้ว่าในปัจจุบัน เราอาจจะไม่สามารถมองเห็นประโยชน์ ของการจดบันทึกประวัติศาสตร์ แต่ถ้าดูตัวอย่างจากประเทศตะวันตก หรือ แม้แต่ประเทศจีน ซึ่งมีอักษรใช้เป็นเวลานั้น พร้อมกับการมีนิสัยชอบจดบันทึก จึงทำให้ประเทศต่างๆ ได้อาศัยการจดบันทึกหรือจดหมายเหตุเหล่านั้น มาร้อยเรียงให้คนรุ่นใหม่ได้เทียบเคียงและรับรู้ อันเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติเป็นอย่างยิ่ง

เอาละ ร่ายมาพอสมควร ขอต่อเรื่องประวัติหรือความเป็นมาของอำเภอเวียงป่าเป้าเลยนะครับ

จากอดีตสู่ปัจจุบัน

ที่ว่าการอำเภอเวียงป่าเป้า ตั้งแต่ได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอ ได้ทำการก่อนสร้างอาคารที่ว่าการหลังแรกเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว อาศัยเป็นที่ปฏิบัติราชการตลอดมา ประมาณปี พ.ศ. 2475 อาคารที่ว่าการอำเภอชำรุดมาก ขุนบวรอุทัยธวัช ซึ่งเป็นนายอำเภอขณะนั้น ได้ทำการก่อนสร้างที่ว่าการอำเภอขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นตึก 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน แต่พอเริ่มดำเนินการก่อสร้างไปเพียงเล็กน้อย ขุนบวรอุทัยธวัช ได้ประสบอุบัติเหตุตกม้าถึงแก่ชีวิต ขุนพิพัธสุขอำนวย นายอำเภอคนต่อมา จึงได้ดำเนินการก่อนสร้างต่อและเสร็จสมบูรณในสมัยของ ขุนสุขจิตสมบัติศิริ และได้ใช้เป็นที่ว่าการอำเภอจนถึงเดือนเมษายน 2542

เนื่องจากสภาพอาคารที่ว่าการหลังที่ 2 ชำรุดทรุดโทรมประกอบกับภารกิจในการให้บริการประชาชนมีมากขึ้น นายประสิทธิ์ บุญวัฒน์ นายอำเภอเวียงป่าเป้า จึงมีการพิจารณาจัดหาที่ดินและเสนอของบประมาณจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดสร้างอาคารหลังใหม่ โดยได้รับงบประมาณตามโครงการเงินกู้พิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประจำปีงบประมาณ 2542 จำนวนเงิน 7,827,000 บาท ทำสัญญาจ้างกับบริษัท คิว เอส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2542 กำหนดแล้วเสร็จ วันที่ 12 พฤษภาคม 2543 มีลักษณะอาคารกว้าง 24 เมตร ยาว 56 เมตร สูง 3 ชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง ตามแบบแปลนของกรมโยธาธิการ เลขที่ ม.18155 โดยทำการก่อนสร้างบริเวณพื้นที่ที่จัดซื้อเพิ่มเติมบริเวณหลังอาคารหลังเก่า ในเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 45 ตารางวา ได้รับงบประมาณในการจัดซื้อที่ดินจากองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 7 แห่ง (อบต.สันสลี, เวียง, บ้านโป่ง, ป่างิ้ว, เวียงกาหลง, แม่เจดีย์, แม่เจดีย์ใหม่) เป็นเงิน 240,000 บาท

ขอวางเรื่องประวัติอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ไว้เท่านี้ก่อนนะครับ และจะขอแถมให้โดยการนำเอารายนาม หรือถ้าตามประสาชาวบ้านเราก็คือ รายชื่อของนายอำเภอ ที่ได้มาประจำตำแหน่งอยู่ที่นี่ตั้งแต่อดีต มาจนถึงปัจจุบันมาลงให้ได้อ่านกันต่อครับ

รายชื่อ(รายนาม) ของนายอำเภอ ที่ได้มารับตำแหน่งอยู่ที่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย แห่งนี้ ได้ตั้งใจนำมาลงไว้ในเว็บนี้ เพื่อเป็นการบันทึกเป็นข้อมูลสถานการณ์หรืออนาคตก็จะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน เชิญทัศนาครับ

รายนามนายอำเภอเวียงป่าเป้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

     หลวงอุดรนันทาการ
     พระยาอภิรักษ์หิรัญกิจ
     นายสมบูรณ์ อินทราวรรณ์
     นายมิ่ง จารุชาติ
     ขุนพิทักษ์โกวิราวรรณ์
     นายกรี มังตรีสรรค์
     ขุนสิทธดิสัยรักษ์
     หลวงปราณีนรากร
     ขุนบวรอุทัยธวช
     ขุนพิพิธสุขอำนวย
     ขุนสุจิตต์สมบัติศิริ
     ขุนพานบุรารักษณ์
     นายจริญ ธนะสังข์
     นายกมล สุทธนะ
     นายสว่าง พรหมปฏิม
     นายอุดม ศิริทัศนากุล
     นายภักดี สุนทรางกูร
     นายสัย เวศพันธ์
     นายเคลื่อน ศิริพันธ์
     นายทิวา พูลสมบัติ
     นายจรัส ฤทธิ์อุดม
     นายศรีพงศ์ อยู่มั่น
     นายโยธิน พร้อมเพรียง
     นายทรงศักดิ์ ตันติวัฒนา
     นายประกิต สุมันตกุล
     นายวิวัฒน์ ศรีสังวาล
     นายสุรพล มหาวัจน์
     ร.ต.จำเนียร นาจริง
     นายบงการ ลิมปะพันธุ์
     นายเนติ อวิรุทธนานนท์
     นายวิศิษฐ์ สิทธิสมบัติ
     นายสนิท ผู้แสงทอง

นี่เป็นรายนามนายอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ทั้งหมด ซึ่งเราถือว่าเป็นตัวแทนจากรัฐบาลส่วนกลางได้มาทำหน้าที่ดูแลและบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน และท่านเหล่านี้ก็เป็นผู้นำทางด้านการปกครองในอำเภอ เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปได้ด้วยดี ต้องขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย




บทความที่เกียวข้อง
ประวัติความเป็นมาของอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 1

งานสงกรานต์ พ.ศ.2555

งานสงกรานต์ พ.ศ.2555


ช่วงนี้ เชียงราย หมอกควันเยอะมาก เกินค่ามาตรฐานด้วยซ้ำ ขอแนะนำให้เตรียมหน้ากากไว้ปิดจมูกด้วยก็ดีนะครับ

งานสงกรานต์ พ.ศ.2555 เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่สนุกสนาน ทำให้เราชาวไทยลืมความทุกข์ไป อย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

ในปีนี้ที่เชียงราย ก็จะจัดให้มีการแห่งขบวนนางสงกรานต์ สรงน้ำเพราะ และการรดน้ำขอพรหรือดำหัว ผู้สูงอายุในจังหวัดเชียงราย

ส่วนการละเล่นก็มีมากมาย แต่อย่างน้อยก็ได้สนุกสนานกันตามถนนสายหลัก อย่างไรก็ขอให้เล่นกันด้วยความระมัดระวังนะครับ

เชียงรายสำคัญ สำหรับประเทศไทย

เชียงรายสำคัญ สำหรับประเทศไทย


ขึ้นต้นด้วยคำว่า เชียงรายสำคัญ สำหรับประเทศไทย ถ้าคนต่างถิ่นมาอ่าน คงรังเกียจอยู่ไม่น้อย แต่ลองอ่านดูก่อน นะมันเป็นความภูมิใจของคนท้องถิ่น ที่ได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง จึงทำให้เกิดการเขียนเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมา 

เชียงราย เป็นจังหวัดที่อยู่เหนือสุดยอดในสยาม หรือของประเทศไทย (คือที่ อำเภอแม่สาย) ซึ่งเป็นเขตติดกับ ท่าขี้เหล็กของพม่า จึงเป็นอีกจุดหมายหนึ่งของนักท่องเที่ยว ที่ต้องการมาไปพักผ่อนในวันหยุด ไม่ว่าจะไปกับบริษัททัวร์หรือไปเที่ยวกันแบบครอบครับก็ตาม ประวัติศาสตร์ของเมืองเรา เราก็ไม่ได้เขียนเอง จึงทำให้ผู้เขียน หรือ นักประวัติศาสตร์ต่างถิ่น ได้ลดความสำคัญของท้องถิ่นลงไป เหมือนดังจังหวัดเชียงราย ที่มีความสำคัญหลายๆ อย่าง แต่นักประวัติศาสตร์ที่อยู่ต่างถิ่นมักลืมเลือนไปหรือมองข้ามไป

ความสำคัญของจังหวัดเชียงราย มีอะไรบ้าง?

ความสำคัญของจังหวัดเชียงรายมีมากมาย อาจจะแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้ คือ

๑ ความสำคัญต่อชาติ    


๑.๑ เป็นจุดกำเนิดอาณาจักร์แห่งแรก ของคนไทยในประเทศไทย 

ประวัติศาสตร์ของชาติไทยจะลืมไม่ได้เลยว่า อาณาจักรแรกของเราเริ่มขึ้นที่นี่ "นครเชียงแสนโยนกนาคพันธุ์" หรือปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเชียงแสน (คนทั่วไปก็จะรู้่จักสามเหลี่ยมทองคำไปด้วย)

๑.๒ เป็นจุดกำเนิดอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจ

ภายหลังจากคนไทย ซึ่งตามตำนานกล่าวไว้ว่า ได้ถอยร่นลงมาจากบริเวณเขตที่อยู่ภายใต้การปกครองของประเทศจีนในปัจจุบัน แล้วจึงเริ่มสร้างบ้านแปงเมืองให้ยิ่งใหญ่ได้ ซึ่งต่อมาก็ได้ขยายเมือง ย้ายเมือง รวมเมือง แยกการปกครอง กล่าวคือ จากเชียงแสน - เชียงราย - ไชยปราการ (เชียงใหม่) - เวียงกุมกาม (เชียงใหม่) - นพบุรีศรีนครพิงค์ (เชียงใหม่) ตามลำดับจนได้รวบรวมทั้งหมดเข้าด้วยกัน แล้วเป็น "อาณาจักรล้านนา"

โดยสรุปจึงกล่าวได้ว่า ถ้าไม่มีเชียงแสนก็ไม่มีเชียงราย ถ้าไม่มีเชียงรายก็ไม่มีเชียงใหม่และล้านนา

๒ ความสำคัญของกษัตริย์    

๒.๑ มีกษัตริย์ผู้ทรงสร้างเมืองสร้างอาณาจักร ผู้เก่งกล้าสามารถ กษัตริย์ที่เป็นพุทธมามกะ และมีมหาราชถึงสองพระองค์

ผู้สร้างเมืองคือมีกษัตริย์หลายพระองค์ที่ทรางสร้างเมืองหลายแห่ง จนกระทั่งถึงยุคสมัยของพญามังราย หรือ พ่อขุนเม็งรายมหาราช ผู้สร้างรวมเมืองน้อยใหญ่ทั้งหลายกลายเป็น อาณาจักรที่แข็งแกร่ง

ผู้เก่งกล้าสามารถ ในหลายรัชสมัยของกษัตริย์เชียงรายสามารถเข้าไปยึดครองต่างบ้านต่างเมือง ดังที่ครั้งหนึ่ง ได้มีดินแดนกินไปไกลถึงเมืองแกว (เวียตนาม) เลยทีเดียว

ผู้เป็นพุทธมามกะ กษัตริย์หลายๆ พระองค์ทรงตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา ดังได้มีวัด เจดีย์ สำนักทางการปฏิบัติ เก่าๆ อยู่หลายแห่ง แม้ว่าสภาพปัจจุบันจะเป็นเพียงซากปรักหักพัง แต่ก็สามารถศึกษาจนได้รับรู้รับทราบถึงอดีตได้

เชียงรายเอง มีกษัตริย์ที่ได้รับสมญานามว่าเป็น "มหาราช" ถึง 2 พระองค์ นั่นคือ "พ่อขุนเม็งรายมหาราช" และ "พระเจ้าพรหมมหาราช

ทั้งหมดนี้ย่อมแสดงถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในด้านกษัตริย์ของเมืองนี้

๓ จุดกำเนิดวัฒนธรรมอันดีงาม

๓.๑ เป็นจุดกำเนิดของตุง    

การกำเนิดของตุง ก็คือที่มาของ "ดอยตุง" นั่นแหละ เพราะเริ่มต้น ก็เนื่องมาจากพระเจ้าอชุตตราช ได้มีการอธิษฐานในการสร้างพระธาตุ ณ ตรงนั้น จึงได้ทำตุง ขึ้น โดยการปักเสาตุงลงที่บนดอยนั้นเป็นที่แรกเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น

คำว่า "ตุง" ก็คือ "ธง" ในภาษาไทยภาคกลางนั่นเอง ซึ่ง ตุงนั้น เป็นที่แสดงถึง "เครื่องหมายแห่งชัยชนะ" ด้วย

๓.๒ มีปฐมเจดีย์ของล้านนา    

สิ่งที่ต่อเนื่องมาจาก การเกิดขึ้นของตุง(ธง) ทำให้ต่อมาก็มีการสร้างเจดีย์ขึ้นที่นั้น ซึ่งเป็นเจดีย์องค์แรกในดินแดนล้านนา จินตนาการดูว่า การสร้างเจดีย์บนดอย(ภูเขา) สูงขนาดนั้น ย่อมเกิดขึ้นจากศรัทธาอันแรงกล้าของผู้นับถือ จึงเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

๓.๓ เป็นศูนย์รวมของชนเผ่าหรือชาติพันธุ์ที่หลากหลาย

เชียงรายมีชนเผ่าที่หลากหลายมาก ทั้งที่มีคนรู้และไม่รู้ จะขอนำบางส่วนมาแสดง คือ เย้า ปากะญอ (ยาง) ลีซู (ลีซอ) ม้ง (แม้ว-ปัจจุบันไม่ใช้เพราะถือว่าไม่สุภาพ) ลาหู่ (มูเซอ) ขมุ ลั๊วะ ลื้อ ยอง คนเมือง และในปัจจุบัน มีคนต่างถิ่นจากหลายจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคมาตั้งถิ่นฐานอยู่ ซึ่งตรงนี้เอง เชียงรายจึงเป็นศูนย์รวมทางด้านวัฒนธรรมที่หลากหลายด้วยเช่นกัน

หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ การค้นคว้าเพิ่มเติม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการตรวจสองความถูกต้องและความเป็นไปได้ของบทความนี้

เป็นที่น่าเสียใจ ที่ประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเขียนโดยคนภาคกลางมักจะเขียนออกมา ในลักษณะแบ่งแยกว่า ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยเริ่มต้นจาก "กรุงสุโขทัย และ กรุงศรีอยุธยา" นั่นเป็นเสมือนแบ่งให้อาณาจักรล้านนา ซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศ รวมถึงการเริ่มต้นของอาณาจักร์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ เป็นกลุ่มที่อยู่นอกเผ่าพันธ์ที่ถูกนำมารวมกับทั้งสองอาณาจักรนั้น แล้ว ไม่ใช่ไทยหรือ? ไม่ใช่จุดกำเนิดของอาณาจักรไทยหรือ?

ข้อนี้ นักประวัติศาสตร์ที่จะเขียนประวัติศาสตร์น่าจะนำไปคิดเพื่อนำมาซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแน่นแฟ้นต่อไป

นี่คือที่มาของบทความที่ว่า เชียงรายสำคัญ สำหรับประเทศไทย ส่วนท่านที่เป็นคนแห่งอื่น จะเห็นเป็นเช่นไรนั้น ก็ขึ้นกับท่าน อย่างไรเสีย ชาวเชียงราย ก็เป็นฟันเฟืองหนึ่งของประเทศ ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป

พระราชประวัติพ่อขุนเม็งราย (พญามังราย) 1

พ่อขุนเม็งราย (พญามังราย) ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์ลาว (ลัวะ) หรือ ลาวจังกราช ผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน (บริเวณเมืองเชียงแสนในปัจจุบัน) และทรงเป็นปฐมวงศ์กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เป็นราชโอรสของพระเจ้าลาวเม็ง กับพระนางอั้วมิ่งจอมเมือง หรือพระนางเทพคำข่าย แรกจะตั้งพระครรภ์นั้น พระนางทรงสุบินนิมิตฝันว่าได้เห็นดาวประกายหยาดแต่ท้องฟ้านภากาศลงมาทางทักษิณทิศ (ทิศใต้) พระนางได้รับดวงดาวนั้นไว้ รุ่งขึ้นจึงให้โหรทำนาย ได้ความว่า “จะได้ราชโอรสทรงศักดานุภาพปราบประเทศทักษิณทิศ จนตราบเท่าถึงแดนสมุทร” พอครบกำหนด ก็ทรงประสูติราชบุตรเมื่อยามใกล้รุ่งวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน เอกสกจุลสักราช 601 พุทธศักราช 1782 ( บางตำนานว่าปีจอ พ.ศ. 1781 ) ที่เมืองเชียงลาวซึ่งห่างจากเมืองเงินยางไปไม่มากนัก พระเจ้าลาวเมืองผู้เป็นปู่และท้าวรุ่งแก่นชายผู้เป็นตา ก็ประชุมพระญาติวงศาทั้งสองฝ่าย กระทำพิธีเฉลิมขวัญขนานนามราชกุมารว่า “เจ้าเม็งราย” โดยนำชื่อของบิดา ตา และมารดา คือลูกท้าวเม็งหลานท้าวรุ่งเกิดแต่นางเทพคำข่าย

ประวัติความเป็นมาของอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 1

ประวัติอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 






วันนี้ขอนำเอา ประวัติอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มากล่าวถึงกันบ้าน โดยอาศัย คลิปวีดีโอ จากนักเรียนที่ได้ทำไว้ให้เราชม ซึ่งก็น่าติดตามอยู่เหมือนกัน เป็นการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่ไม่ทำให้เบื่ออีกต่อไป

เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วเรามักจะมองหรือกล่าวถึงสถานที่หรือความเป็นมาเฉพาะตัวจังหวัด หรือเขตสำคัญทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด มักจะละเลย เขตอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจมากนัก อำเภอเวียงป่าเป้า ก็เช่นกัน แต่ก่อนนั้นเป็นเพียงเมืองผ่านของผู้ที่เดินทางไกล จึงหาแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมา หรือ ประวัติ ของอำเภอนี้จากทางอินเทอร์เนตได้น้อยมาก ด้วยเห็นความสำคัญของเรื่องประวัติศาสตร์ของจังหวัดเชียงราย จึงขอนำเอาเรื่องของประวัติความเป็นมา ของอำเภอเวียงป่าเป้า มาลงไว้ ทั้งนี้รวมถึง เวียงกาหลง ซึ่งอดีตก็เป็นเมืองสำคัญไม่น้อยเช่นกัน เพื่อเป็นอีกแหล่งหนึ่งในการศึกษาและอ้างอิงต่อไป

วัดพระแก้ว จ.เชียงราย

วัดพระแก้ว จ.เชียงราย

วัดพระแก้ว จ.เชียงราย เป็นวัดที่มีความสำคัญหลายด้าน ทั้งด้านการศึกษา  ศิลปะ การปกครอง และเป็นสถานที่ค้นพบพระแก้วมรกต เป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นวัดที่น่าสนใจมาก อีกทั้งทางวัดมีกิจกรรม ให้ได้ติดตามและปฏิบัติธรรมตลอดปี

สถานภาพและที่ตั้งของวัด


วัดพระแก้ว  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี  ชนิดสามัญ มีเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา  ตั้งอยู่ที่ถนนไตรรัตน์  ตำบลเวียง  อำเภอเมืองเชียงราย  จังหวัดเชียงราย  ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะจากวัดราษฎร์  เป็นพระอารามหลวง  เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2521

ก่อนที่จะมีชื่อว่าวัดพระแก้ว


เดิมเป็นวัดเก่าแก่  สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน  บริเวณนี้มีไม้ไผ่ชนิดหนึ่งคล้ายไผ่สีสุก  แต่ไม่มีหนาม  ชาวบ้านนิยมนำไปทำคันธนูและหน้าไม้  คงจะมีมากในบริเวณนี้  ชาวเชียงรายจึงเรียกว่า "วัดป่าเยียะ หรือวัดป่าญะ"  ต่อมาในปี พ.ศ.1977  ฟ้าผ่าเจดีย์วัดนี้  จึงได้พบพระพุทธรูปองค์หนึ่งเป็นปูนปั้น แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในอุโบสถ ต่อมาปูนบริเวณพระนาสิก(จมูก) กะเทาะออก เผยให้เป็นลักษณะเป็นแก้วสีเขียว จึงได้แกะปูนที่พอกออกจากองค์พระทั้งหมด จึงปรากฎให้เห็นเป็น พระแก้วมรกต  ชาวบ้านจึงเรียกชื่อเสียใหม่ว่า "วัดพระแก้ว"

วัดนี้จึงเป็นสถานที่ค้นพบพระแก้วมรกต หรือที่เรียกเป็นทางการว่า "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" หรือ พระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือ วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานครนั่นเอง

ปี๋ใหม่เมือง:สงกรานต์อันตราย


ในช่วงวันสงกรานต์หรือป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองนี้ อยากกล่าวถึงผู้ที่ตั้งใจจะมาเที่ยวสงกรานต์ที่เชียงรายนะครับ ตามที่เราได้รับรู้กันแล้วว่า ในช่วงฤดูท่องเที่ยวสาดน้ำกันนี้ที่เชียงราย เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีผู้คนจากหลาย ๆ จังหวัดเดินทางมา ไม่ว่าจะตั้งใจมาเที่ยวที่วัดร่องขุ่น ชายแดนอำเภอแม่สาย สามเหลี่ยมทองคำอำเภอเชียงแสน หรือที่อื่นใดก็ตาม นั่นเป็นการบอกให้รู้ว่า จะมีรถคับคั่งมากที่เชียงราย ฉะนั้น ย่อมเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น

จากสถิติที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ ซึ่งทางการได้มีมาตรการในการป้องกันโดยใช้ชื่อว่า “7 วันอันตราย” นั้น จะมีชื่อของจังหวัดเชียงรายติดอันดับต้นๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ ยอดคนเจ็บ ยอดคนตาย หรือยอดอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้อง จึงอยากจะเขียนไว้เป็นเครื่องเตือนสติหน่อยครับ

เทศกาลวันปี๋ใหม่เมือง สงกรานต์เมืองล้านนา


เทศกาลวันปี๋ใหม่เมือง สงกรานต์เมืองล้านนา ภาษาไทยภาคกลาง ซึ่งเห็นว่าน่าจะทำให้เข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
 

หนังสือปีใหม่เมืองล้านนา จุลสกราช 1374 ตัว ปีเต่าสี (ปีมะโรงจัตวาศก)

 

 

ประกาศวันสงกรานต์

หรคุณวันสังกรานต์ล่อง 501864
หรคุณวันเน่า              501865
หรคุณวันพระญาวัน      501866

มาสเกณฑ์ 16994 อวมาน 400
กัมมัชพล 9 อุจจพล 285
ดิถี 24 วาร           1

อธิมาส ปกติวาร อธิกสุรทิน (พ.ศ.2555)
มังคลวุฒิกาลานุกาล สังกรมสวัสดิศิริสุภมัสตุ จุลสกราชได้ 1373 ตัว เถาะฉนำกัมโพชพิสัยในคิมหันตอุตุ จิตตมาส กาฬปักษ์ สัตตมี ศุกรวารโถง ไทภาษาว่า ปีร้วงเหม้า เดือน 7 ลง 7 ค่ำ พร่ำว่าได้วันสุกร์ที่ 13 เมษายน วันไทยกาบสีติถี 7 นาทีติถี 38 ตัว พระจันทจรณยุตติโยตโสดเสด็จเข้าเที่ยวเทียมนักขัตตฤกษ์ตัวถ้วย 20 ชื่อปุพพาษาฒะ คือว่าดาวปลายงาช้าง เทวตาปรากฏนะนุเตโชราศี นาทีฤกษ์ 23 ตัว เสี้ยงยามกลางเดิก็ ปลาย 2 บาทน้ำ ปลาย 10 พิชชาปลาย 2 ปราณ ปลาย 10 อักขระ คือว่าได้ 19 นาฬิกา 46 นาที 12 วินาที อันนี้ตามกัมพีร์สุริยาราแล

เทศกาลวันปี๋ใหม่เมือง สงกรานต์เมืองล้านนา ตอน 2/2


สิ่งที่ต้องปฏิบัติตั้งแต่ช่วงวันปากปีเป็นต้นไป
ในวันสงกรานต์ไพนั้น จุ่งหื้อครูบาอาจารย์ เจ้านาย ท้าวพระญาเสนาอามาตย์ ข้าราชการไพร่ราษฎรทังมวลเอากันไพสู่โปกขรณี แม่น้ำ เค้าไม้ จอมปลวกใหญ่ หนทางไคว่สี่เส้นสุ่มกัน อว่ายหน้าไพสู่ทีสะหนวันออก อาบองค์สรงเกศเกล้าเกสี ปีนี้สรีอยู่ที่ท้อง หื้อเอาน้ำอบน้ำหอมเช็ดท้องเสีย กาลกิณีอยู่ที่หน้าผาก จังไตอยู่ที่หน้า หื้อเอาน้ำเข้าหมิ้นส้มป่อยเช็ดคว่างเสีย กล่าวคาถาว่า “อม สิริมา มหาสิริมา เตช ยสฺส ลาภา อายุ วณฺณา ภวนฺตุ เม” ลอยจังไรเสียในที่คนทั้งหลายฝูงนั้น แล้วมานุ่งทรงเสื้อผ้าผืนใหม่ เหน็บดอกส้มสุกอันเปนพระญาดอก หากจักมีอายุยืนยาวไพชะแล

เทศกาลวันปี๋ใหม่เมือง สงกรานต์เมืองล้านนา ตอน 1/2

หนังสือปีใหม่เมืองล้านนา จุลสกราช 1374 ตัว ปีเต่าสี (ปีมะโรงจัตวาศก)

 

 

ประกาศวันสงกรานต์

หรคุณวันสังกรานต์ล่อง 501864
หรคุณวันเน่า              501865
หรคุณวันพระญาวัน      501866

มาสเกณฑ์ 16994 อวมาน 400
กัมมัชพล 9 อุจจพล 285
ดิถี 24 วาร           1

อธิมาส ปกติวาร อธิกสุรทิน (พ.ศ.2555)
(ขออนุญาตคัดลอกมาให้อ่านเป็นภาษาคำเมืองล้านนา เพื่อเก็บความตามเจ้าของเดิม แล้วจะมีอีกบล็อกแปลเป็นภาษาไทยกลางเพื่อความเข้าใจได้ดีมากยิ่งขึ้นครับ)

ตราไปรษณียากรที่ระลึก 750 ปี เมืองเชียงราย : สแตมป์

เนื่องจาก พญามังราย หรือ ที่ภาษาไทยเรียกพระองค์ท่านว่า พ่อขุนเม็งรายมหาราช (พ.ศ. 1782 –1860) ได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 1805 แล้วจึงทรงรวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยให้เป็นปึกแผ่นขยายขนาดใหญ่ขึ้นและในที่สุดก็เป็น อาณาจักรล้านนา ให้ปึกแผ่นเป็นประจักษ์มาแล้ว
นับตั้งแต่ทรงสร้างเมืองเชียงรายมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 750 ปี ในปีพ.ศ.2555 นี้ ทางหอการค้าจังหวัดเชียงรายจึงจัดสร้างสแตมป์ หรือ ตราไปรษณียากรที่ระลึก 750 ปี เมืองเชียงรายขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสในการเก็บสะสมไว้เป็นที่ระลึก
ผู้ที่สนใจสามารถหาซื้อสแตมป์ หรือ ตราไปรษณียากรที่ระลึก 750 ปี เมืองเชียงรายชุดนี้ไว้เป็นที่ระลึก หรือ จะนำไปเป็นของฝากของชำร่วยก็ดีไม่น้อย เพราะเป็นของที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง สามารถหาซื้อได้ตามบูทต่างๆ ของจังหวัด หรือ ที่ไปรษณีย์ทั่วไป
ภาพสแตมป์ที่ระลึกชุดนี้ เป็นภาพอนุสาวรีย์พญามังราย/พ่อขุนเม็งรายมหาราช ซึ่งประทับยืนหันพระพักต์ไปทางทิศตะวันออก และทรงถือพระขันธ์ไว้ที่พระหัตถ์ซ้าย ดังภาพที่นำมาแสดงข้างล่าง
stamp.1
ท่านที่สนใจและชอบสะสมก็รีบซื้อเก็บไว้ได้แล้วนะครับ ช้าอาจจะหมด อดมีไว้เชยชม

ตักบาตรเป็งพุธ ตักบาตรกลางคืน

เป็งปุ๊ด/เป็งพุธ/เดือนเพ็ญวันพุธ ประเพณีตักบาตรกลางคืน

วันพรุ่งนี้ 7 มีนาคม 2555 เป็นวันพระใหญ่ คือ ขึ้น 15 ค่ำ วันพุธ ในภาษาเหนือเรียกว่า "วันเป็งปุ๊ด" หมายถึง วันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ ตามประเพณีเชื่อว่า เป็นวันที่พระอุปคุต ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่สะดือทะเล ได้ออกมาโปรดสัตว์ โดยการมาบิณฑบาต ซึ่งท่านจะออกมาเฉพาะวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธเท่านั้น จึงทำให้เกิดประเพณีการตักบาตรกลางคืนเกิดขึ้น

เที่ยวดอยตุง ที่เชียงราย ๑

เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ มีเพื่อนมาเยี่ยม จึงพาเที่ยวชมดอยตุง ซึ่งหมายถึง ทั้งพระตำหนักดอยตุง สวนดอกกุหลาบพันปี และ วัดพระธาตุดอยตุงด้วย วันนั้นตอนขาลง เรากะจะลงทางแม่สาย เมื่อไปได้ระยะหนึ่ง ก็เห็นชาวบ้าน คงเป็นลูกจ้างของศูนย์..... นั่งและยืนคุมเชิงกันอยู่ประมาณ 30 คน คิดว่า น่าจะเป็นกลุ่มนี้แหละที่เผาป่า แล้วเฝ้าดูอยู่อย่างใกล้ชิด (จะบอกว่า หมอกควัน ไม่ได้มาจากประเทศเพื่อบ้านแต่เพียงอย่างเดียว

ดอยตุง เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของชาวเชียงราย ซึ่งมิได้ภูมิใจแค่เพียงว่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นเรื่องการปลูกป่า และ รักษาพันธุ์สัตว์อีกด้วย

แจ้งข่าวงาน จาวดอยสัมพันธ์ มหัศจรรย์หุบเขาแห่งความรัก ครั้งที่ 25

มาอีกแล้วครับ ปฏิทินการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางด้านประเพณีวัฒนธรราของชนเผ่า (ชาวเขา) ซึ่งมีชื่อว่า “จาวดอยสัมพันธ์ มหัศจรรย์หุบเขาแห่งความรัก ครั้งที่ 25” มีเจ้าภาพสำคัญในการจัดงานนี้ ได้แก่ เทศบาลตำบลแม่ยาวร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นงานที่อาจจะเข้ากับบรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยก็ได้นะ ซึ่งได้จัดงาน เดินหน้าประเทศไทย กันไปแล้ว โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยเป็นผู้นำรัฐบาล แล้วได้เชิญท่าน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี มาร่วมงาน ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี แต่ที่นี่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 เดือนกุมภาพันธ์ 2555 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป

ทักทายก่อนวันหยุด : ศิลปแห่งชาติ หิมะตกที่เชียงราย

ช่วงนี้ไม่ได้มาอัพเดทเนื้อหาสาระเอาเสียเลย เนื่องด้วยมีภารกิจที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

แต่ว่า อย่างไรก็ตาม ในปี ๒๕๕๕ นี้ นับว่ามีเรื่องที่น่ายินดีหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นช่วงของ "ครบรอบ ๗๕๐ ปีเมืองเชียงราย" และอีกเรื่องคือมี "ศิลปินแห่งชาติ" เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนนั่นคือ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ก็สมแล้วครับ เพราะอาจารย์ท่านได้ทำอะไรมาเยอะ ทุ่มเทกำลังกาย กำลังทรัพย์ ในการพัฒนาวัดร่องขุ่น ซึ่งแต่ก่อนนั้นเป็นวัดแบบพื้นบ้านธรรมดาๆ จนทำให้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วว่า วัดขาว หรือ วัดร่องขุ่น เมื่อใครมาเห็นก็อดไม่ได้ที่จะนำกล้องถ่ายรูปมาถ่ายเก็บไว้เป็นที่ระลึกเลยทีเดียว

ประกาศปิดเส้นทางการจราจร เนื่องในพิธีบวงสรวง 750 ปีเมืองเชียงราย


ช่วงระยะปีนี้ ทางจังหวัดเชียงราย ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง "750 ปี เมืองเชียงราย" เพื่อเป็นการระลึกถึงการที่พ่อขุนเม็งราย ได้สร้างเมืองมาครบ 750 ปี จึงทำให้บางทีการเดินทางไปในบางที่ที่ไม่ทราบอาจจะเป็นปัญหาจราจรติดขัดได้ จึงขออนุญาตนำมาบอกกล่าวกันในที่นี้ว่า

พระเจ้า หรือ อื่อซา คือใคร (ชนเผ่าลาหู่)

ความเชื่อเรื่องพระเจ้า
ความเชื่อบางเรื่องของชนเผ่าที่ชื่อว่า ลาหู่ (มูเซอ) ชาวลาหู่เองก็มีความเชื่อพื้นฐานเหมือนกับชนเผ่าทั้งหลายคือ นับถือพระเจ้า หรือ อื่ซา ความเชื่อเรื่องภูต ผี ขวัญ วิญญาณ รวมๆ ผสมผสานกันไป เพราะเป็นความเชื่อแบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน

พระเจ้า หรือ อื่อซา คือใคร
ชาวลาหู่ เชื่อว่า อื่อซา เป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ที่เป็ฯผู้ให้กำเนิดโลกและความดีทั้งปวงในโลก การบูชาสวดอ้อนวอน อื่อซา ถือเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจาก จะสามารถบันดาลให้ทุกคนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุข มีข้าวปลาอาหารที่สมบูรณ์ไม่รู้จักหมดสิ้น สามารถดูได้จากเทศกาลฉลองปีใหม่ของชาวลาหู่ หรือที่เรียกว่า กินวอ (เขาะจาเว) ช่วงปลายเดือนมกราคม หรือ เดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นต้น

พระราชประวัติพ่อขุนเม็งราย (พญามังราย) 2

พระราชประวัติพ่อขุนเม็งราย (พญามังราย) 2


วันนี้ นำเสนอพระราชประวัติของพ่อขุนเม็งราย หรือ พญามังราย หรือ ถ้าเป็นแบบพื้นเมืองจริงๆ ก็จะว่ากันว่า พ่อพญามังราย วันนี้เป็นตอนที่สองแล้วครับ มีภาพอนุสาวรีย์พระองค์ท่านแล้ว พระสหายมาให้ดูด้วย อ่านต่อเลยครับ

พ่อขุนเม็งราย(พญามังราย)
ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นมหาราชองค์หนึ่งของประเทศไทย

อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช

อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช

อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ประดิษฐานอยู่บริเวณห้าแยกทางไป อำเภอแม่จัน แม่สาย และเชียงแสน โดยประชาชนชาวเชียงรายร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๘๐,๐๐๐ บาท เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพ่อขุนเม็งราย ปั้นโดย นายปกรณ์ เล็กฮอน ลักษณะของอนุสาวรีย์คือ เป็นพระรูปของพระองค์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดเท่าครึ่ง ทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องทรงพระมหากษัตริย์ล้านนาโบราณ ประทับยืนบนฐานสูงประมาณ ๓ เมตร ทรงถือดาบด้วยพระหัตถ์ซ้ายแนบกับพระเพลา ทรงสวมวลัยพระกร ทรงสวมธำมรงค์ที่พระหัตถ์ขวาตรงนิ้วนางและนิ้วก้อย ที่พระหัตถ์ซ้ายตรงนิ้วชี้ และทรงฉลองพระบาท ปัจจุบันมีตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติประดับอยู่ทางด้านหลังอนุสาวรีย์ด้วย และที่ตรงฐานใต้พระบรมรูปมีคำจารึกว่า