รีวิว แนะนำ แหล่งท่องเที่ยวเชียงราย และกิจกรรมต่างๆ สถานที่สำคัญของเชียงราย ประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์ของแต่ละจังหวัด แล้วท่านจะรู้ที่มาที่ไปของแต่ละชื่อแต่ละเมือง เช่น แม่สาย เชียงแสน ดอยตุง ดอยช้าง ภูชี้ฟ้า สามเหลี่ยมทองคำ กษัตริย์ล้านนา

Custom Search

ประเพณีปีใหม่ (การกินวอ)ของ ลาหู่ (มูเซอ)

ลาหู่ คำนี้เป็นชื่อของชนเผ่ากลุ่มหนึ่ง ซึ่งปกติจะอาศัยอยู่บนภูเขา ในอดีตคนพื้นราบโดยทั่วไปมักจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "มูเซอ" แต่ว่า ในระยะต่อมาก็ได้เรียกกันจนเป็นที่รับรู้ว่าเป็นชนเผ่า "ลาหู่"

การเฉลิมฉลองปีใหม่ ในภาษาลาหู่(มูเซอ) เรียกว่า ประเพณี เขาะเจ๊าเว ซึ่งแปลว่า "ปีใหม่การกินวอ" ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่บรรดาญาติมิตร ได้กลับมาร่วมงานกันที่บ้านอย่างพร้อมเพรียงเรียงหน้า ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลเมื่อทราบว่าทางหมู่บ้านตัวเองจะจัดงานดังกล่าวก็จะกลับมาร่วมกัน เทศกาลของลาหู่ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แตกต่างจากชนเผ่าอื่นๆ ซึ่งปีใหม่หรือการกินวอนี้ มีความสำคัญต่อชาวลาหู่อย่างยิ่ง เพราะเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเผ่าเสียเป็นส่วนมาก สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวคราวเรื่องดังกล่าวได้จากสื่อต่างๆ ส่วนมากแล้วชนเผ่านี้จะอาศัยอยู่จังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ เป็นต้น

ปีใหม่ของลาหู่ตรงกันวันไหน?

บางท่านอาจจะเกิดคำถามนี้ขึ้น เมื่ออ่านวรรคข้างบนที่ว่า "เมื่อทราบว่าทางหมู่บ้านตัวเองจะจัดงานดังกล่าวก็จะกลับมาร่วมกัน" คำตอบก็คือ ไม่มีการกำหนดวันอย่างแน่นอน หรือ ไม่ได้กำหนดวันไว้อย่างเฉพาะเจาะจงว่าจะจัดขึ้นวันไหน แต่จะมีการตกลงร่วมกันให้จัดในช่วงเวลาที่สมาชิกของกลุ่มตนเสร็จสิ้นจากภาระกิจการงานต่างๆ ตามอาชีพที่ทำอยู่ และเมื่อเห็นว่าสมาชิกส่วนใหญ่อยู่พร้อมเพรียงกัน เพราะการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น ทำไร่ ทำสวน ก็ตามส่วนมาก็จะทำเหมือนกันและเริ่มพร้อมกัน เมื่อเก็บเกี่ยวพืชผลของตนเสร็จแล้วก็จะจัดกันขึ้น

ดังนั้น การจัดงานดังกล่าวของชนเผ่า เมื่ออยู่ต่างหมู่บ้านกันก็อาจจะไม่ได้จัดพร้อมกันก็ได้ เพราะในแต่ละหมู่บ้านอาจจะมีความพร้อมในการจัดงานดังกล่าวไม่พร้อมกันเช่นกัน ทำให้เวลาที่จะจัดงานปีใหม่นี้อาจจะจัดในช่วง กุมภาพันธ์ มีนาคม หรือ เมษายน ก็ได้ทั้งสิ้น

เมื่อถึงช่วงของการฉลองปีใหม่ของหมู่บ้านแล้ว สมาชิกที่ได้ไปทำงานต่างถิ่นต่างที่ หรือในปัจจุบันก็ไปเรียนหนังสือที่อื่น ก็จะกลับมาที่หมู่บ้านเพื่องานฉลองปีใหม่

เลี้ยงอะไรในวันปีใหม่

ในงานเลี้ยงวันปีใหม่ของ ลาหู่ จะมีการใช้ หมูดำ เป็นหลักในการสังเวยและการเลี้ยงกัน กล่าวคือ จะมีการฆ่าหมูดำ แล้วเอาส่วนที่เป็นเนื้อหมูและหัวของหมู นำไปเซ่นสังเวยต่อเทพเจ้าอื่ซา พร้อมกับข้าวเหนียวนึ่งที่นึ่งแล้วมาตำให้เหนียว เมื่อเสร็จแล้วก็ปั้นให้เป็นก้อนกลมๆ เรียกว่า "อ่อผุ" บางที่จะได้ยินเรียกกันว่า "ข้าวปุ๊ก" แล้วจึงน้ำเนื้อหมูดังกล่าว มาปรุงหรือทำเป็นอาหารเลี้ยงกันอย่างเต็มที่ (เทพเจ้าอื่อชา เป็นเทพเจ้าที่ชาวลาหู่ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก จะนำมาเสนอในคราวหน้าต่อไปอ่านเรื่องเทพเจ้าอื่อซา )

ใช้เวลาในการเฉลิมฉลองกี่วัน

การเฉลิมฉลองปีใหม่ของชาวลาหู่ หรือ มูเซอ นับว่าใช้เวลานานพอสมควร นั่นคือ 12 วัน เพราะเหตุที่มีเวลามากนี่กระมัง จึงได้มีการแบ่งการฉลองออกเป็น 2 ช่วง นั่นคือ
-ช่วงแรก เป็นการฉลองปีใหม่สำหรับผู้หญิง เรียกว่า "เขาะหลวง" หรือ "ปีใหญ่" เป็นระยะเวลา 6 วัน
-ช่วงที่สอง เป็นการฉลองปีใหม่สำหรับผู้ชาย เรียกว่า "เขาะน้อย" หรือ "ปีเล็ก" เป็นระยะเวลา 6 วัน

โดยทั้งสองช่วงนั้น จะมีเวลาว่างหรือหยุดกิจกรรม หว่างอยู่ตรงกลางระหว่างนั้น 1-2 วัน

การละเล่น

หลังจากเวลาสองวันนี้แล้วกลางคืนจะมีการเต้นรำทุก ๆ คืน ลาหู่เรียกว่า "ก่าเคาะเว" ตั้งแต่หัวค่ำไปจนกระทั่งรุ่งสาง

กลางวันชาย - หญิงลาหู่ จะมีการละเล่นกัน แต่แตกต่างกันกล่าวคือ ผู้ชายจะมีการเล่นขว้างลูกข่าง ฝ่ายผู้หญิงจะมีการเล่นลูกสะบ้า และการเล่นโยนลูกบอล (ขนาดไม่ใหญ่สักเท่านัก คือ ประมาณสักกำปั้นเรานี่แหละ) ซึ่งเป็นลูกบอลที่ทำมาจากผ้าเย็บไว้ด้านนอกเสมือนเป็นการห่อ โดยข้างในห่อนั้นจะบรรจุแกลบหรือรำข้าวไว้

เทศกาลนี้มีกิจกรรมอะไรบ้าง

เทศกาลฉลองปีใหม่นี้ มีกิจกรรม คือ มีการจุดเทียน เพื่อสวดอ้อนวอนเทพเจ้าที่ชาวลาหู่เคารพนับถือ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวหรือหมู่บ้านของตนมีความสุข มีความอุดมสมบูรณ์ มีฝนฟ้าตกต้องตามฤดู เป็นต้น

การจัดงานฉลองดังกล่าวนั้น หากมีชาวลาหู่ (มูเซอ) ในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้เคยงกัน ได้จัดงานขึ้นพร้อมกับหมู่บ้านต้นเอง ก็จะมีพิธีกรรมเพิ่มขึ้นมา เรียกว่า "อ่อรี้เตดะเว" หมายถึง การเดินทางไปเยือนหมู่บ้านอื่นพร้อมกับห่อเนื้อหมู่ และ อ่อผุ (ข้าวปุ๊ก) ไปทำบุญกับเพื่อนบ้านด้วย พร้อมกันนั้นก็มีการรดน้ำให้ผู้อวุโส มีการเต้นรำรอบลานพิธีของหมู่บ้านั้น ก่อนจะกลับมาหมู่บ้านของตนเอง และอีกไม่กี่วันเพื่อบ้านจะมาหมู่บ้านของตนบ้าง และจะมีการประกอบพิธีที่เรียกว่า "อ่อรี้เตดะเว" ขึ้นเป็นการตอบแทนเช่นเดียวกัน

ทำไมต้องแยกวันหรือช่วงเวลาการฉลองปีใหม่

บางท่านอาจจะเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมต้องแยกวันในการฉลองปีใหม่ ระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย คำตอบจากผู้เฒ่าได้อธิบายไว้ว่า สมัยก่อนนานมาแล้ว พวกผู้ชาย ต้องออกไปปฏิบัติภาระกิจนอกหมู่บ้านไกลๆ เป็นเวลานาน ๆ เช่น การไปร่วมสงคราม ไปค้าขายต่างถิ่น ไปล่าสัตว์ในป่า เป็นต้น เมื่อไปไหนหรือนานวัน ทำให้ไม่สามารถจะกลับมาทันร่วมฉลองปีใหม่พร้อมกัน เหล่าผู้หญิงที่อยู่ดูแลบ้านเห็นว่าถึงเวลาที่จะฉลองกันแล้วก็จึงจัดขึ้นก่อน ภายหลังเมื่อพวกผู้ชายกลับจากภารกิจต่างๆ กลับมาปรากฎว่า ปี่ใหม่ก็ถูกจัดขึ้นและเสร็จไปก่อนแล้ว บรรดาผู้ชายทั้งหลายจึงทำการจัดงานฉลองปีใหม่กันเฉพาะพวกตนอีกหนหนึ่ง

การจัดในปัจจุบันยังคงเป็นแบบเดิมอยู่หรือไม่

คำตอบก็คือ ทั้งใช่ และ ไม่ใช่ ที่ว่าใช่ ก็คือ มีการจัด 2 ช่วงเหมือนเดิม คือ เขาะหลวง และ เขาะน้อย เช่นเดียวกับสมัยเก่า แต่ว่า ทั้งสองเพศสามารถเข้าร่วมด้วยทั้งหมด ซึ่งก็หมายถึง ต่างฝ่ายต่างได้ฉลองกันถึงสองหนนั่นเอง

เหตุผลที่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงสามารถเข้าร่วมฉลองร่วมกันได้ เนื่องจากว่าปัจจุบันการเดินทางสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล เมื่อทราบข่าวแล้ว ก็สามารถจะมาร่วมงานได้ภายในเวลาที่หมู่บ้านของตนได้กำหนดไว้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น