รีวิว แนะนำ แหล่งท่องเที่ยวเชียงราย และกิจกรรมต่างๆ สถานที่สำคัญของเชียงราย ประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์ของแต่ละจังหวัด แล้วท่านจะรู้ที่มาที่ไปของแต่ละชื่อแต่ละเมือง เช่น แม่สาย เชียงแสน ดอยตุง ดอยช้าง ภูชี้ฟ้า สามเหลี่ยมทองคำ กษัตริย์ล้านนา

Custom Search

วาจาสุภาษิต นำมาซึ่งประโยชน์: วัวควายยังอยากฟังเลย

วาจาสุภาษิต นำมาซึ่งประโยชน์

เมื่อสองสามวันก่อน มีแรงจูงใจให้เขียนบางเรื่องซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่ก็มีประโยชน์ไม่น้อยนะ เพราะเป็นเรื่องการพูดหรือ วาจาสุภาษิต บังเอิญไปได้ยินคนพูดซึ่งเป็นผู้มีอำนาจมากกว่าพูดออกมา เลยพลอยทำให้คิดถึงจิตใจคนฟัง เมื่อนึกเรื่องที่จะเอามาประกอบ คิดไม่ออกว่าเป็นเรื่องอะไร บังเอิญมีหนังสือ ภาษาต่างประเทศอยู่ เลยเอามาแปล ซะเลย จึงขอนำเอาข้อคิดมาลงเสริมด้วยอีกทีครับ ขอเริ่มด้วยคำกลอนสวยๆ ที่ว่า 

          จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น
          อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู
          ไม่ควรพูดอื้ออึงขึ้นมึงกู
          คนจะหลู่ล่วงลามไม่ขามใจ
                             ที่มา: สุภาษิตสอนหญิง

บ่อยครั้ง ที่พูดคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ หรือผู้บริหาร มักจะได้เห็นหรือได้ยินการแสดงอำนาจ ไม่ว่าจะโดยการกระทำหรือว่า การใช้วาจาก็ตาม ซึ่งบ่อยครั้งเช่นกัน มักจะได้ยินคำที่ไม่ค่อยจะเหมาะเท่าไรนัก 

ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำหรือพูดอะไรมากมายขนาดนั้น เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าท่านนะยิ่งใหญ่ที่สุดในองค์กร พูดอะไรคนที่อยู่ใต้บังคับบัญชาก็ยอมรับนับถือและเชื่อฟังอยู่แล้ว การพูดจากันด้วยการให้ความเคารพและยอมรับสิทธิการเป็นคน หรือที่นิยมเรียกกันว่า “สิทธิมนุษยชน” ของเขาด้วย

เมื่อพูดถึงเรื่องการพูดจาปราศรัยแล้ว ทำให้คิดถึงชาดกในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้า ได้ทรงเล่าให้กับพระสาวกของพระองค์ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องของโคกับเจ้าของของมันที่มักจะพูดจากด้วยภาษา ที่ไม่น่าฟัง หรือคำหยาบ ขออนุญาตนำมาเล่าในที่นี้ สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยฟังหรือไม่เคยอ่าน สำหรับท่านที่เคยผ่านหูผ่านตามาแล้วก็ขอให้ผ่านไปครับ
เรื่องมีอยู่ว่า อดีตกาลนานแล้ว ในเมืองตักกะสิลา ของคันธาระ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นลูกวัวที่มีกำลังมาก อยู่ในบ้านของเศรษฐีคนหนึ่ง

วัวตัวนั้น เมื่อเติบโตมาแล้วก็คิดว่าตนได้รับประทานอาหารดีและการดูแลดี แม้ว่าบางครั้งจะได้รับความลำบากบ้าง แต่เมื่อตนเป็นผู้ที่มีกำลังมาก ในการบรรทุกของหนักต่างๆ ซึ่งวัวตัวอื่นไม่มีกำลังมากเท่า ตนจะได้ใช้ความแข็งแรงนั้นช่วยงานเศรษฐีเป็นการตอบแทน

โคนั้นจึงบอกกับท่านเศรษฐีว่า ท่านน่าจะไปท้าพนันกับพ่อค้าที่รวยๆทั้งหลาย ว่าข้าสามารถลากเกวียนหนักนับพันเล่มได้ เศรษฐีนั้นเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี จึงได้ไปท้าว่า ไม่มีวัวใครสามารถลากได้ดีเท่าวัวตน จนมาเจอกับพ่อค้าคนหนึ่ง จึงบอกว่าเช่นนั้นแล้วท้าพนันกันด้วยเหรียญทองจำนวน ๑,๐๐๐ เหรียญ แล้วจึงนัดวันและเวลา

เมื่อถึงวันแข่งขัน ทั้งสองคนได้นำเกวียนนับพันเล่ม มามัดต่อกัน แล้วเติมทรายและกรวดข้างในเพื่อให้มีน้ำหนักมาก

ฝ่ายเศรษฐี ก็ได้ให้อาหารอย่างดีแก่วัวของตน รวมทั้งอาบน้ำให้แล้วประดับตกแต่งพร้อมทั้งแวนพวงมาลัยที่สวยงามที่คอวัวนั้น แล้วเขาก็ใส่อานดูแล้วไฮคลาสทีเดียว ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้วัวรู้ว่าตัวเองมีความสำคัญมาก แล้วเขาก็กระโดดขึ้นหลังวัว และหวดแส้กลางอากาศพร้อมกับตะโกนว่า "ลากไป ไอ้วัวโง่! ฉันบอกให้แกลากไง ไอ้วัวแสนโง่"

วัวจึงคิดในใจว่า การแข่งขันนี้เป็นความคิดของเรา เราไม่เคยทำอะไรไม่ดีต่อเจ้านายเลย แต่เขากลับ แสดงวาจาไม่ดี ไม่สุภาพต่อฉัน ดังนั้นวัวจึงยืนอยู่กลับที่และปฏิเสธที่จะลากเกวียน

พ่อค้าเห็นอย่างนั้นจึงหัวเราะแล้วทวงเอารางวัลที่พนันกันไว้ คือเหรียญทองทั้ง ๑,๐๐๐ เหรียญนั้น จากท่านเศรษฐี ๆ จึงเดินคอตกกลับด้วยความเศร้า ที่เสียพนัน และรู้สึกแย่มาก

ส่วนวัวนั้น เมื่อถึงบ้านเห็นเศรษฐีเจ้านายของตนนอนลงด้วยความเศร้า จึงถามว่า ท่านทำไมนอนอย่างนั้น หลับอยู่หรือเปล่า ดูเศร้าเหลือเกิน เศรษฐีตอบว่า ฉันเสียเหรียญทองไปเป็นพันเพราะเจ้า แล้วจะให้ฉันหลับลงได้อย่างไร

วัวจึงตอบว่า ท่านเรียกฉันว่า เจ้าวัวโง่ ทั้งยังหวดแส้กลางอากาศตรงบนหัวเรา ตลอดชีวิตฉันเคยไหมที่จะไม่เชื่อฟังท่าน ฉันไม่เคยทำอะไรที่ผิดหรือไม่ดี ที่ท่านจะมาเรียกได้ว่า "วัวโง่" เขาตอบว่า ไม่เลย

วัวจึงพูดขึ้นว่า แล้วทำไมท่านจึงเรียกเราว่า "วัวโง่" และยังทำไม่ดีแต่เราต่อหน้าผู้คนอีก มันเป็นความผิดของท่านนะ ฉันไม่ผิด แต่ก็รู้สึกเสียใจด้วย ท่านไปท้าพนันกับพ่อค้าคนเดิมด้วยเหรียญทองจำนวน ๒,๐๐๐ เหรียญ และจงจำไว้ว่า ควรใช้คำพูดที่สุภาพแต่เราด้วยแล้วเราจะทำอย่างดี

เมื่อเศรษฐีท้าพนันกับพ่อค้าคนเดิมด้วยจำนวนเหรียญทองสองพันเหรียญ พ่อค้าคิดว่า จะได้เงินแบบง่ายๆ แล้วเขาก็ทำเหมือนครั้งก่อนคือ มันเกวียนหนึ่งร้อยเล่มติดกันแล้วเดิมทรายและกรวดข้างใน ส่วนเศรษฐีก็ได้ให้อาหาร อาบน้ำ และประดับพวงมาลัยให้กับวัวของตนเหมือนเดิม

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ท่านเศรษฐีก็ไปสัมผัสกับวัวนั้นที่หน้าผากด้วยดอกบัวแทนการตีด้วยแส้ คิดประเหมือนกับว่าวัวนั้นเป็นลูกของตนเองแล้วพูดว่า ลูกเอ๋ย โปรดทำให้เราได้รับรางวัลด้วยการลากเกวียนจำนวนร้อยเล่มนี้เถิด

ดูแล้วก็เห็นว่า วัวที่น่าอัศจรรย์นั้น ลากเกวียนเหล่านั้นด้วยกำลังมหาศาลของตน จนเกวียนเล่มสุดท้ายมาอยู่ที่เกวียนเล่มแรกเคยอยู่

พ่อค้าถึงกับอ้าปากค้างด้วยความทึ่ง แล้วจำต้องจ่าย เหรียญทองจำนวนสองพันเหรียญ ผู้ที่มาดูก็ประทับใจจึงให้รางวัลต่างๆ แต่สำหรับท่านเศรษฐีนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าชัยชนะก็คือบทเรียนอันล้ำค่า ในเรื่อง ความถ่อมตน ความอ่อนน้อม และ การเคารพ หรือความสุภาพ นั่นเอง

คุณธรรมหรือข้อคิดจากชาดกเรื่องนี้ คือ การใช้คำหยาบ ทำให้พลาดรางวัล ส่วนคำพูดที่สุภาพนำมาซึ่งเกียรติสู่ทุกคน ถ้าจะพูดอย่างนี้คงไม่ผิดนัก เหมือนที่เราเคยพูดกันบ่อยๆว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ปาก” แล้วก็มีคนรุ่นใหม่มักจะเติมเข้าไปอีกว่า “...พูดมาก ปากจะเป็นสี” นั่นแหละ

ฉะนั้น คนเรา ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหาร หรือว่า ระดับผู้ปฏิบัติงาน ก็ตาม สิ่งสำคัญและต้องระวังคือคำพูด ควรจะเป็นวาจาสุภาษิต ไม่ว่าหยาบคาย ไม่หยาบโลน หรือเสียงดัง เสียงตะคอก ถ้ามองจากชาดกที่นำมาประกอบนั้น ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ขนาดวัวควายยังอยากฟังคำพูดสุภาพ แล้วเราเป็นคนล่ะ ต้องสุภาพขนาดไหน???

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น