รีวิว แนะนำ แหล่งท่องเที่ยวเชียงราย และกิจกรรมต่างๆ สถานที่สำคัญของเชียงราย ประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์ของแต่ละจังหวัด แล้วท่านจะรู้ที่มาที่ไปของแต่ละชื่อแต่ละเมือง เช่น แม่สาย เชียงแสน ดอยตุง ดอยช้าง ภูชี้ฟ้า สามเหลี่ยมทองคำ กษัตริย์ล้านนา

Custom Search

ไหว้พระ ๙ วัดนามมงคล ในกำแพงเมือง เชียงราย

ไหว้พระ ๙ วัดนามมงคล ในกำแพงเมือง เชียงราย


ช่วงนี้ เป็นฤุดูหนาวของจังหวัดเชียงรายแล้ว หลายๆ ท่านก็ถือโอกาสหนีน้ำท่วมจากกรุงเทพฯ หรือแถวภาคกลาง ขึ้นมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ให้ผ่อนคลายจากปัญหาน้ำท่วม เมื่อท่านได้มาเที่ยวเชียงราย จะพลาดไม่ได้คือการได้กราบไหว้พระในวัดที่มีนามมงคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่ในใจกลางเมืองเชียงราย ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๙ วัดด้วยกัน

ในการเดินทางนั้นก็ง่ายๆ เพียงแต่ท่านไปที่ อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งราย (หรือ พญามังราย) เป็นจุดสำคัญ แถวนั้นคนจะเรียกกันว่า ห้าแยกพ่อขุนเม็งราย จะมีรถราง (ตามชื่อที่เรียกกัน) ที่จริงแล้ว ไม่มีรางให้รถวิ่งหรอก ก็วิ่งไปตามถนนนั่นแหละครับ แล้วรถนี้จะบริการฟรี มีไกด์นำเที่ยว ทั่ววัดต่างๆ ในตัวเมืองด้วย ได้ทั้งความสุข ความสนุก และที่สำคัญ ได้ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาตร์ของแต่ละวัดด้วย จะขอนำรายชื่อวัดเหล่านั้นมาแสดงไว้ พอสังเขป ดังนี้

วัดกลางเวียง

ตั้งอยู่ถนนอุตรกิจ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ประวัติสำหรับวัดกลางเวียงนี้ ชื่อเดิม คือ จันทน์โลก หรือจั๋นต๊ะโลก แล้วเปลี่ยนมาเป็น วัดจันทน์โลกกลางเวียง ซึ่งมีที่มาของชื่อ กลางเวียง เพราะยุคนั้นวัดจันทน์โลกกลางเวียง คือศูนย์กลางของเวียงเชียงราย และเป็นที่ตั้งของ “สะดือเวียงเชียงราย”

เนื่องด้วยเวียงเชียงราย ในช่วงสมัยของยุคที่เรียกว่า ยุคสถาปนา เมืองเชียงราย คือ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๘๖ เป็นต้น แต่ด้วยเหตุที่เมืองเชียงรายนี้ ได้รับการสถาปนามาเป็นเวลานานนับได้กว่า สองร้อยปี และมีทั้งความเฟื่องฟูและดับสูญทำให้ถูกทำลายโดยธรรมชาติบ้าง จึงต้องมีการบูรณะเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๖ เป็นต้นมา ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ ได้มีการสร้างกำแพงเมืองเชียงราย และแล้วเสร็จบริบูรณ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๗ จึงจัดให้มีการเฉลิมฉลองเมืองเชียงราย พ.ศ. ๒๔๑๘

วัดงำเมือง

ตั้งอยู่ ถนนอาจอำนวย บ้านฮ่อมดอย (ชุมชนราชเดชดำรง) หมู่ที่ ๑ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ประวัติ วัดงำเมืองสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๘๖๐ วัดงำเมืองเดิมมีแต่สถูป (กู่) บรรจุพระอัฐิของพญามังรายมหาราช สร้างโดยพญาไชยสงครามโอรสพญามังรายมหาราช ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙

หลังจากที่พญามังรายได้สวรรคตที่เมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.๑๘๖๐พญาไชยสงคราม พระราชโอรสได้ถวายพระเพลิงพระศพพญามังรายมหาราช แล้วพระองค์ทรงไม่โปรดเมืองเชียงใหม่ ได้กลับมาครองเมืองเชียงรายและอัญเชิญพระอัฐิของพญามังรายมาประดิษฐาน ณ ดอยแห่งนี้ ต่อมา พ.ศ. ๒๐๓๐ พระยาศรรัชฎาเงินทอง ได้มาบุรณะและสร้างวัดขึ้นให้ชื่อว่า”วัดงำเมือง” และใน พ.ศ. ๒๒๒๐ ได้มีการบูรณะเพิ่มเติมมีการสร้างวิหารและเสนาสนะในวัด โดยเจ้าฟ้ายอดงำเมืองโอรสเจ้าผู้ครองนครเชียงแสน ต่อมาวัดงำเมืองเริ่มชำรุดทรุดโทรมลงเพราะขาดการทำนุบำรุง

วัดพระธาตุดอยจอมทอง

ที่ตั้ง วัดพระธาตุดอยดอยจอมทอง ตั้งอยู่บ้านจอมทอง หมู่ ๑ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ประวัติ พระธาตุดอยจอมทอง เป็นมงคลนามแห่ง เมืองเชียงรายเดิมเป็นวัด เก่าแก่สันนิษฐานว่า มีมาก่อนที่พ่อขุนเม็งรายมหาราชจะมาพบพื้นที่ และสร้างเป็นเมืองเชียงราย ในปี พ.ศ.๑๘๐๕ตามหลักฐานปรากฏในหนังสือพงศาวดารโยนกของพระยาประชากรจักรกล่าวว่า เมื่อพุทธศาสนาล่วงแล้ว ๙๕๖ พรรษา มีพระเถระเจ้ารูปหนึ่งนามพระพุทธโฆษา เป็นชาวโกศล เมื่อสุธรรมวดี(สะเทิม) ในรามัญประเทศ ได้ออกไปสู่เมืองลังกาทวีป นำคัมภีร์พระไตรปิฏกแห่งลังกาทวีปมาสู่รามัญประเทศและพุกามประเทศ และเข้ามาสู่แคว้นโยนกนครไชยบุรีศรีเชียงแสน ในวันจันทร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด มหาศักราชได้ ๓๓๕ (พ.ศ.๑๔๘๓ ) นำพระบรมสารีริกธาตุสามขนาดมารวม ๑๖ องค์  ถวายแก่พระเจ้าพังคราช เจ้าเมืองโยนกนาคพันธ์ พระองค์ได้แบ่งเป็นพระธาตุขนาดใหญ่หนึ่ง ขนาดกลางสอง รวมสามองค์ส่งให้พญาเรือนแก้ว เจ้าเมืองไชยนารายณ์ (บริเวณอำเภอเวียงชัยในปัจจุบัน) ส่วนหนึ่งบรรจุลงในมหาสถูปบนดอยทอง ขนานนามว่าพระธาตุดอยจอมทอง เพื่อเป็นมงคลนามของเมือง

วัดพระแก้ว (พระอารามหลวง)

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ประวัติ วัดพระแก้วเป็นพระอารามหลวงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯยกฐานะจากวัดพระอารามหลวงเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๑ ก่อนที่จะมีชื่อว่า วัดพระแก้ว เดิมเป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน บริเวณวัดนี้มีไผ่พันธุ์พื้นเมืองชนิดหนึ่ง คล้ายไผ่สีสุก ไผ่ไม่มีหนาม ซึ่งชาวบ้านนิยมมาทำหน้าไม้และคันธนู ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดป่าเยี้ยะ หรื วัดป่าญะ ต่อมาในปี พ.ศ.๑๙๗๗ ได้มีการค้นพบพระแก้วมรกตในบริเวณวัดนี้ชาวบ้านจึงขนานนามเสียใหม่ว่า “วัดพระแก้ว” ตำนานวัดพระแก้วมรดกตามตำนานโบราณ ได้มีผู้เขียนไว้ภาษ่มคธ ในหนังสือรัตนพิมพวงศ์ว่า มีเทวดาสร้างขึ้นเพื่อถวายพระนาคเสนเถระที่เมืองปาฏลีบุตร (ปัจจุบัน รัฐปัตนะ ประเทศอินเดีย) ต่อมาได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานยังที่ต่างๆ ดังนี้ ๑.เกาะลังกา ๒.กัมพูชา ๓.อินทาปัฐ (นครวัด) ๔.กรุงศรีอยุธยา ๕.ละโว้ (ลพบุรี) ๖.วิชิตปราการ (กำแพงเพชร) ๗.เชียงราย (พ.ศ.๑๙๓๔-๑๙๗๙ ประดิษฐาน ๔๕ ปี ) ๘.ลำปาง (พ.ศ.๑๙๗๙-๒๐๑๑ประดิษฐาน ๓๒ ปี ) ๙.เชียงใหม่ (พ.ศ.๒๐๑๑-๒๐๙๖ ประดิษฐาน ๘๕) ๑๐.เวียงจันทร์(พ.ศ. ๒๐๙๖-๒๓๒๑ ประดิษฐาน ๒๒๕ปี) ๑๑.กรุงเทพมหานคร (พ.ศ.๒๓๒๑-ปัจจุบัน) ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ได้รับพระราชทานนามว่า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

วัดพระสิงห์ (พระอารามหลวง)

ตั้งอยู่ถนนทำหลวง ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียราย จังหวัดเชียงราย ด้านข้างติดกับถนนสิงหไคล 

ประวัติ เป็นวัดโบราณดั้งเดิม สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามหาพรหมพระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้าเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าพรหมได้มาครองเมืองเชียงราย ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๘๘-๑๙๔๒ เคยเป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์มาก่อน พระสิงห์เป็นพระนามพระพุทธรูปที่สำคัญองค์หนึ่งแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่บ่งบอก ได้ถึงพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทอย่างลังกาวงศ์ ตรงกับพระพุทธสิหิงค์ นิยมเรียกว่า พระสิงค์ ท่านผู้รู้บางท่าน ให้ข้อคิดว่า พระสิงค์ หมายถึง พระสิงหวัติ กษัตริย์โบราณ ผู้สร้างเมืองโยนกนครก็มี บางที่อธิบายว่าหมายถึง พระศากยสิงห์ คือ พระบาทหนึ่งของพระพุทธเจ้า

วัดมิ่งเมือง

ตั้งอยู่ถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ด้านข้างติดถนนบรรพปราการ

ประวัติ วัดมิ่งเมือง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นวัด ไทใหญ่ สมัยก่อนมีชุมชนไทยใหญ่อยู่เรียกว่า วัดเงี้ยว หรือ วัดช้างมูบ(ช้างมอบ) การก่อสร้างตามชาวบ้านศรัทธาเล่าว่า ผู้สร้างวัดมิ่งเมือง ชื่อ ตะแม่ศรี มีศักดิ์เป็นมเหสีของพ่อขุนฯ เป็นชาวพม่า เวลานี้มีการบูรณะเจดีย์โบราณของวัด พบจารึกบนแผ่นเงินจารึกเป็นภาษาพม่า แปลออกมาเป็นผู้สร้างจากเจดีย์โบราณในวัด ภาษายังมีปรากฏอยู่เป็นศิลปะผสมระหว่างพม่าและล้านนา ที่สำคัญถ้าหากเป็นจริงอย่างจารึก วัดนี้ก็มีอายุเท่ากับเมืองเชียงราย และมีหลักฐานที่สำคัญหลายชิ้นที่บอกว่า เป็นวัดที่ชาวพม่าสร้างไว้ก่อน วัดมิ่งเมืองอยู่ติดกับประตุไก่ดำ เพี้ยนมาเป็นสี่แยกสะพานดำ หรือคนเมืองเชียงราย เรียกสี่แยกขัวดำ ส่วนหลักฐานอื่นถือว่าเป็น วัตถุโบราณของวัดมีบ่อน้ำโบราณ เรียกว่าบ่อน้ำช้างมูบ เป็นศิลปะแบบไทยใหญ่มีซุ้มครอบไว้บนหลังช้างหมอบ ชาวบ้านผ่านไปมาก็เรียกว่าช้างมูบ และเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดจ้างมูบ

วัดมุงเมือง

ตั้งอยู่ถนนอุตรกิจ หมู่ที่๑ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ประวัติ เป็นวัดที่มีพระพุทธรูปสองสี หรือพระเจ้าสองสี องค์ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเชียงราย ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เครื่องบินทิ้งระเบิดเมืองเชียงรายบริเวณโดยรอบ ซึ่งเป็นตลาดสดแต่ภายในวัดปลอดภัย วัดมุงเมืองเป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๐๙ ได้ประกอบพิธีผูกพันทธสีมาเมื่อ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๐ สิ่งสำคัญภายในวัดมี พระเจดีย์และพระสังกัจจาย์

วัดศรีเกิด

ตั้งอยู่บ้านศรีเกิด หมู่ที่๓ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ประวัติ สร้างเมื่อ พ.ศ.๑๙๘๓ เป็นมงคลนามแห่งเมืองทางด้านสิริมงคล เปรียบเป็นสถานที่เกิดของต้นพระมหาโพธิ์ หรือต้นศรี ตามภาษาเมืองได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๙ อาคารเสนาะสนะประกอบด้วย อุโบสถและกุฏิสงฆ์ ปูชนียวัตถุ มีพระประธาน และเจดีย์ศิลปะล้านนา บานประตูหน้าต่าง คันทวย หน้าบรรณ ของวัดนี้เป็นไม้สักแกะสลักสวยงามมาก

วัดศรีบุญเรือง

ตั้งอยู่ถนนสิงหไคล หมุ่ที่ ๓ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

ประวัติ เป็นวัดเก่าวัดหนึ่ง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.๑๙๘๒ ต่อมาเป็นวัดร้าง เมื่อคุ้มเจ้าหลวงได้เปลี่ยนสภาพไปเป็นโรงเรียนดำรงราษฏสงเคราะห์ วัดเชียงหมั้นซึ่งอยู่ในคุ้มหลวง จึงย้ายสิ่งของพร้อมทั้งประธาน มาไว้ที่วัดศรีบุญเรือง วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์หอฉัน หอระฆัง ศาลาพักร้อน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น