รีวิว แนะนำ แหล่งท่องเที่ยวเชียงราย และกิจกรรมต่างๆ สถานที่สำคัญของเชียงราย ประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์ของแต่ละจังหวัด แล้วท่านจะรู้ที่มาที่ไปของแต่ละชื่อแต่ละเมือง เช่น แม่สาย เชียงแสน ดอยตุง ดอยช้าง ภูชี้ฟ้า สามเหลี่ยมทองคำ กษัตริย์ล้านนา

Custom Search

พระราชประวัติพ่อขุนเม็งราย (พญามังราย) 1

พ่อขุนเม็งราย (พญามังราย) ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 แห่งราชวงศ์ลาว (ลัวะ) หรือ ลาวจังกราช ผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน (บริเวณเมืองเชียงแสนในปัจจุบัน) และทรงเป็นปฐมวงศ์กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เป็นราชโอรสของพระเจ้าลาวเม็ง กับพระนางอั้วมิ่งจอมเมือง หรือพระนางเทพคำข่าย แรกจะตั้งพระครรภ์นั้น พระนางทรงสุบินนิมิตฝันว่าได้เห็นดาวประกายหยาดแต่ท้องฟ้านภากาศลงมาทางทักษิณทิศ (ทิศใต้) พระนางได้รับดวงดาวนั้นไว้ รุ่งขึ้นจึงให้โหรทำนาย ได้ความว่า “จะได้ราชโอรสทรงศักดานุภาพปราบประเทศทักษิณทิศ จนตราบเท่าถึงแดนสมุทร” พอครบกำหนด ก็ทรงประสูติราชบุตรเมื่อยามใกล้รุ่งวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน เอกสกจุลสักราช 601 พุทธศักราช 1782 ( บางตำนานว่าปีจอ พ.ศ. 1781 ) ที่เมืองเชียงลาวซึ่งห่างจากเมืองเงินยางไปไม่มากนัก พระเจ้าลาวเมืองผู้เป็นปู่และท้าวรุ่งแก่นชายผู้เป็นตา ก็ประชุมพระญาติวงศาทั้งสองฝ่าย กระทำพิธีเฉลิมขวัญขนานนามราชกุมารว่า “เจ้าเม็งราย” โดยนำชื่อของบิดา ตา และมารดา คือลูกท้าวเม็งหลานท้าวรุ่งเกิดแต่นางเทพคำข่าย

เมื่อทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงศึกษาศิลปศาสตร์และยุทธพิชัยสงคราม จากพระอาจารย์ที่พระบิดาหาให้ และศึกษาวิชากับเทพอิสิฤาษี ณ ดอยด้วน (เขตอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ) และที่เขาสมอคอน เมืองละโว้ (ลพบุรี) เมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระเจ้าลาวเม็งได้สู่ขอพระนาง “ศรีอโนจา” ราชธิดาของเจ้าเมืองเชียงเรือง (เมืองพะเยา) มาอภิเษกด้วย พระองค์มีราชโอรส 6 พระองค์ พระราชธิดา 1 พระองค์ พระราชโอรสที่สำคัญในประวัติศาสตร์มี 3 พระองค์ ได้แก่ ขุนเครื่อง ขุนคราม (ไชยสงคราม) และขุนเครือ ในปี พ.ศ. 1802 พระเจ้าลาวเม็งเสด็จสวรรคต พญามังรายจึงได้ครองราชสมบัติแทน เมื่อพระชนมายุได้ 21 พรรษา หลังจากที่ครองราชย์แล้วก็ทรงพระราชดำริว่า “แว่นแคว้นโยนกประเทศนี้มีท้าวพญาหัวเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นเชื้อวงศ์ของปู่เจ้าลาวจก (ลาวจังกราช) ต่างก็ปกครองอย่างเป็นอิสระจึงมีเรื่องวิวาทแย่งชิงบ้านเมืองไพร่ไทยและส่วยอากรกันอยู่มิได้ขาด บ่ได้มีความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อีกประการหนึ่งบ้านเมืองใด หากมีผู้เป็นใหญ่ปกครองบ้าน เมืองมากเจ้าหลายนายก็มักจะสร้างความทุกข์ยากให้แก่ไพล่บ้านพลเมืองของตน อันเป็นอาณาประชาราษฎร์ยิ่งนัก และถ้าหากมี ศัตรูต่างชาติเข้าโจมตีก็อาจจะเสียเอกราชได้โดยง่าย ” ฉะนั้นพระองค์จึงพระประสงค์ที่จะรวบรวมหัวเมืองต่างๆ เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และได้ผนวกเอาเมืองต่างๆ เข้าไว้ในพระราชอำนาจ

ในปีจอ พ.ศ. 1805 เมื่อพญามังรายได้ยกทัพมาประทับ ณ เมืองลาวกู่เต้า บังเกิดราชบุตรองค์หนึ่ง ในปีจอ จุลศักราชได้ 624 ปี ขนานนามราชกุมารนั้นว่า “ ขุนเครื่อง” ในปีเดียวกัน ช้างมงคลของพระองค์ที่ทอดไว้ในป่าหัวดอยทิศตะวันออกเกิดพลัดหายไป พญามังราย จึงได้เสด็จติดตามรอยช้างไปจนถึง “ดอยจอมทอง” ภูเขาขนาดเล็กริมฝั่ง “แม่น้ำกก” ทรงเห็นชัยภูมิที่ดีเหมาะแก่การสร้างเมือง จึงได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นโดยก่อปราการโอบเอาดอยจอมทองไว้ท่ามกลางเมือง และบูรณะวัด ปราสาท ราชมณเฑียร เก่าของเมืองไชยนารายณ์เดิม ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 1805 ทรงขนานนามเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นนี้ว่า “ เวียงเชียงราย” หมายถึง เมืองของพญามังราย และทรงย้ายราชธานีจากเมืองหิรัญนครเงินยางมาไว้ที่เมืองเชียงราย อยู่ต่อมาได้ 3 ปี ก็ได้ราชบุตรอีกองค์หนึ่งในปีขาล จุลศักราช 637 ขนานนามว่า “ เจ้าขุนคราม” ต่อมาตีได้เมืองของชาวลัวะคือมังคุมมังเคียน แล้วขนานนามเมืองเสียใหม่ว่า “ เมืองเชียงตุง” (ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า)

ครั้งหนึ่งมีพระอรหันต์รูปหนึ่งนามว่า พระมหาวชิรโพธิเถระ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาถวายพญามังราย ถึง 150 องค์ พระองค์จึงทรงสร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ ดอยตุงในบริเวณสถูปเก่าที่พระเจ้าอชุตราช กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์สิงหนวัติผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธ์ สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ.1454 เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิธาตุพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) เบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปเถระได้นำมาถวายพระเจ้าอชุตราช ทำให้พระธาตุดอยตุงมีสององค์

เมื่อปี พ.ศ. 1817 พญามังรายได้ขยายอำนาจลงมาประทับที่เมืองฝาง (ขอแทรกไว้ตรงนี้ว่า เป็น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ บางท่านอาจจะคิดว่าอยู่ห่างไกลกัน แต่ในความเป็นจริง ตามลักษณะภูมิประเทศแล้ว อยู่ใกล้กัน แต่ก่อนนั้นก็ถูกจัดให้อยู่ในเขต จ.เชียงรายเช่นกัน แต่ตอนหลัง เมื่อพ.ศ....... ถูกแยกไปรวมกับเขต จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบันนี้ชาวอ.ฝางก็มาโดยสารเครื่องบินที่สนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวง ของ จ.เชียงราย ซึ่งใกล้กว่า ที่เชียงใหม่มากกว่า) ครั้นประทับอยู่ที่เมืองฝางได้ไม่นาน ก็ได้ราชบุตรอีกองค์หนึ่ง เกิดในปีมะเมีย พระบิดาขนานนามว่า “ ขุนเครือ” ขณะที่ประทับที่เมืองฝางนั้น พระองค์ได้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์และความมั่งคั่งของอาณาจักรหริภุญชัย ( ลำพูน ) จึงโปรดให้ขุนฟ้าไปเป็นไส้ศึกอยู่ในเมืองของข้าศึกนั้น เพื่อยุยงให้ราษฎรในเมือง คลายความจงรักภักดีต่อพญายีบา ผู้ครองอาณาจักรหริภุญชัย ขุนฟ้าได้ทำการอยู่ถึง 7 ปี จึงส่งสารมาทูลเชิญพญามังรายให้ยกทัพไปตี ซึ่งก็สามารถตีเอาเมืองหริภุญชัยได้สำเร็จ จึงได้อาณาจักรที่สำคัญอีกแห่งมาเข้ารวมกับแคว้นโยนก รวบกันเป็น “อาณาจักรล้านนา”

ในครั้งนั้นก็ให้โอรสองค์โตทรงพระนามว่า ขุนเครื่อง ซึ่งมีพระชนมายุได้เพียง 13 พรรษา พญามังรายให้ไปครองเมืองเชียงราย ครั้นครองเชียงรายได้ไม่นาน ถูกขุนไสเรียงอำมาตย์ผู้หนึ่งทูลยุให้กบฏต่อบิดา ชิงเอาราชสมบัติเสีย เมื่อ พญามังรายทรงทราบจึงปรารภว่า “ขุนเครื่อง ผู้มีบุญน้อย จะมาคิดแย่งราชสมบัติกูผู้เป็นบิดาเช่นนี้ จักละไว้มิได้” พญามังรายจึงมอบให้ ขุนอ่องลอบปลงพระชนม์เสีย ขุนอ่องจึงให้ทหารผู้แม่นธนูไปซุ่มลอบปงพระชนม์ ขุนเครื่องจึงถูกปลงพระชนม์ที่เวียงยิง (เขตอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่) หลังจากนั้นพญามังรายก็จัดพระศพอย่างสมพระเกียรติ

ในครั้งที่พญามังรายขยายฐานอำนาจนั้น ได้รุกเข้าไปถึงเขตเมืองพะเยาของพญางำเมืองหมายจะตีเอาเมือง พญางำเมืองจึงจัดการต้อนรับโดยดีมิได้ต่อยุทธ์เหตุหามีเวรต่อกันไม่ ในการนี้พญางำเมือง ยินยอมยกแคว้นปากน้ำ 500 หลังคาเรือนถวายแก่พญามังราย แล้วทั้งสองพระองค์ก็ได้กระทำสัตย์ปฏิญาณเป็นมิตรต่อกัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 1830 ได้เกิดเรื่องชู้สาวระหว่าง พญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) แห่งเมืองสุโขทัย กับพระนางอั้วเชียงแสนราชเทวีของพญางำเมือง พญางำเมือง ทรงทราบเหตุก็กุมเอาพญาร่วงไว้ แล้วส่งสารไปเชิญพญามังรายให้มาตัดสินคดีความ พญามังรายตัดสินให้พญาร่วงทำพิธีขอขมาต่อพญางำเมือง และกษัตริย์ทั้งสามพระองค์ก็ได้ทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตนว่าจักซื่อสัตย์ต่อกันไม่เบียดเบียนกันจนตลอดชีวิต แล้วแต่ละพระองค์ก็แทงเอาโลหิตที่นิ้วพระหัตถ์มารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำขุนภู (ต่อมาเรียกแม่น้ำอิง)

ต่อมาพระองค์ก็ย้ายไปสร้างเวียงกุมกามเมื่อ พ.ศ. 1837 ทรงให้ขุดคูเวียงทั้งสี่ด้านและขุดหนอง ( หนองต่าง ) และนำดินที่ขุนคูเวียงและหนองต่างมาทำเป็นอิฐก่อเจดีย์กู่คำไว้ในเวียงกุมกาม ในช่วงเวลาที่ประทับที่ เวียงกุมกามนั้นก็ได้ยกทัพไปถึงเมืองหงสาวดีและเมืองอังวะและได้พระนางอุสาปโค ราชธิดาของพระเจ้าหงสาวดีมาเป็นราชเทวี ต่อมาทรงเห็นว่าเวียงกุมกามมีปัญหาน้ำท่วม จึงได้ออกสำรวจหาชัยภูมิที่จะสร้างเมืองใหม่ ในที่สุดก็พบบริเวณที่เหมาะสมคือ บริเวณที่ราบระหว่างดอยสุเทพด้านทิศตะวันตกกับแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันออก ครั้งนั้นพญามังรายก็ได้เชิญพระสหายร่วมน้ำสาบานคือ พญางำเมือง กับ พญาร่วง ไปช่วยพิจารณาและวางผังเมือง ดังความที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า “ พญามังรายก็ใช้อำมาตย์ผู้รู้ ผู้หลวักไปเมืองพรูยาว ที่อยู่พญางำเมือง เมืองสุโขทัยที่อยู่พญาล่วง แล้วเรียกร้องเอาพญาทั้งสอง อันเป็นมิตรรักกันด้วย พระญามังรายก็ชักเชิญว่าจักตั้งบ้านใหญ่เมืองหลวง ได้ยินคำจา ก็โสมนัสยินดี ”

กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ได้สร้างเมืองขึ้นมีความกว้าง 900 วา และยาว 1,000 วา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วจึงเริ่มขุดคูเมืองก่อปราการและสร้าง วัด ปราสาท ราชมณเฑียร จากจารึกวัดเชียงมั่น เชียงใหม่ ระบุไว้ว่าการสร้างเมืองเริ่มเมื่อ “สกราช 658 ปีระวายสัน เดือนวิสาขะ ออก 8 ค่ำ วัน 5 ไทเมิงเปล้า ยามแตรรุ่งแล้วสองลูกนาทีปลายสองบาท นวลัคนาเสวยนวางค์ปรหัส ในมีนยราสี ” ซึ่งตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 1839 เวลาประมาณ 4.45 น. ใช้เวลาทั้งสิ้น 4 เดือน จึงแล้วเสร็จ จากนั้นมีการฉลองเมืองถึง 3 วัน 3 คืน แล้วทั้งสามกษัตริย์ก็ร่วมใจกันขนานนามเมืองใหม่นี้ว่า “ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ” (เรียกสั้นๆว่า เมืองเชียงใหม่) และทรงได้สร้าง วัดเชียงมั่น ขึ้นเป็นวัดแรกในเขตกำแพงเมือง และสร้างเจดีย์ช้างค้ำไว้บริเวณหอนอนของพระองค์ ไว้ในวัดเชียงมั่น

หลังจากนั้น พญามังราย ก็ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ที่เชียงใหม่ พระองค์ทรงนำความเจริญด้านต่างๆ มาสู่อาณาจักรล้านนา และทรงตรากฎหมายขึ้นมาใช้ปกครองบ้านเมือง เรียกว่ากฎหมาย “มังรายศาสตร์” พระองค์ประทับอยู่ที่เชียงใหม่โดยตลอด จนในปี เมิงใส้ เอกสกจุลศักราช 679 คือ พ.ศ. 1860 ขณะพระองค์ทรงช้างออกตรวจตลาดกลางเมืองเชียงใหม่ พลันพระองค์ทรงต้องอสุนีบาตสวรรคตกลางตลาด (ตั้งอยู่ ใกล้กับวัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ในปัจจุบัน) ขณะที่เจริญพระชนมายุได้ 79 พรรษา
บทความที่เกี่ยวข้อง พระราชประวัติพ่อขุนเม็งราย (พญามังราย) 2

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น