รีวิว แนะนำ แหล่งท่องเที่ยวเชียงราย และกิจกรรมต่างๆ สถานที่สำคัญของเชียงราย ประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์ของแต่ละจังหวัด แล้วท่านจะรู้ที่มาที่ไปของแต่ละชื่อแต่ละเมือง เช่น แม่สาย เชียงแสน ดอยตุง ดอยช้าง ภูชี้ฟ้า สามเหลี่ยมทองคำ กษัตริย์ล้านนา

Custom Search

พระราชประวัติพ่อขุนเม็งราย (พญามังราย) 2

พระราชประวัติพ่อขุนเม็งราย (พญามังราย) 2


วันนี้ นำเสนอพระราชประวัติของพ่อขุนเม็งราย หรือ พญามังราย หรือ ถ้าเป็นแบบพื้นเมืองจริงๆ ก็จะว่ากันว่า พ่อพญามังราย วันนี้เป็นตอนที่สองแล้วครับ มีภาพอนุสาวรีย์พระองค์ท่านแล้ว พระสหายมาให้ดูด้วย อ่านต่อเลยครับ

พ่อขุนเม็งราย(พญามังราย)
ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นมหาราชองค์หนึ่งของประเทศไทย

อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช

อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช

อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ประดิษฐานอยู่บริเวณห้าแยกทางไป อำเภอแม่จัน แม่สาย และเชียงแสน โดยประชาชนชาวเชียงรายร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ ทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๘๐,๐๐๐ บาท เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณของพ่อขุนเม็งราย ปั้นโดย นายปกรณ์ เล็กฮอน ลักษณะของอนุสาวรีย์คือ เป็นพระรูปของพระองค์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดเท่าครึ่ง ทรงฉลองพระองค์ด้วยเครื่องทรงพระมหากษัตริย์ล้านนาโบราณ ประทับยืนบนฐานสูงประมาณ ๓ เมตร ทรงถือดาบด้วยพระหัตถ์ซ้ายแนบกับพระเพลา ทรงสวมวลัยพระกร ทรงสวมธำมรงค์ที่พระหัตถ์ขวาตรงนิ้วนางและนิ้วก้อย ที่พระหัตถ์ซ้ายตรงนิ้วชี้ และทรงฉลองพระบาท ปัจจุบันมีตุงหลวงเฉลิมพระเกียรติประดับอยู่ทางด้านหลังอนุสาวรีย์ด้วย และที่ตรงฐานใต้พระบรมรูปมีคำจารึกว่า

พ่อขุนเม็งรายมหาราช
พ.ศ. ๑๗๘๒ - ๑๘๖๐
ทรงสร้างเมืองเชียงรายขึ้นเป็นเมืองแรกเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๕
ทรงสถาปนาอาณาจักรล้านนาไทยให้เป็นปึกแผ่น
และทรงสร้างความสามัคคีระหว่างชนชาติไทย
อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่
อนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง จ.พะเยา

อนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง จ.สุโขทัย

อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ 

อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ประดิษฐานอยู่ ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ (หลังเดิม-ในตัวเมือง) ลักษณะของพระบรมรูปสามกษัตริย์ ได้รับการออกแบบและดำเนินการปั้นหล่อ โดยคุณไข่มุกด์ ชูโต คือหล่อด้วยทองเหลืองและทองแดงรมดำ มีขนาดเท่าครึ่ง จากพระบาทถึงพระเศียร ไม่รวมยอดมงกุฎมีความสูง ๒.๗๐ เมตร กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์ ทรงพระภูษายาวเกือบถึงข้อพระบาท ทรงรัดพระองค์ ไม่ฉลองพระองค์แต่ทรงกรองพระศอ สังวาล พาหุรัด วลัยพระกรจำนวนหลายองค์และวลัยพระบาท ซึ่งแต่ละพระองค์ไม่ทรงซ้ำแบบกัน แม้แต่เครื่องประดับพระเศียรก็แตกต่างกัน คือของพญามังรายและพญางำเมือง นำแบบอย่างมาจากเทวดาจากวัดเจดีย์เจ็ดยอดจำนวน ๒ แบบ ซึ่งมีความสวยงามที่สุด สำหรับพญาร่วงทรงมงกุฎน้ำเต้า ซึ่งเป็นทรงสุโขทัย นอกจากนี้กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ประทับยืนในลักษณะพญามังรายประทับยืนกลาง สองพระกรโอบไปเบื้องพระปฤษฎางค์ของพระสหายอย่างสนิทสนม ทรงทอดพระเนตรมายังพญาร่วงซึ่งประทับยืนเบื้องซ้ายและทรงท้าวพระหัตถ์ข้างซ้ายไว้บนบั้นพระองค์ กำลังทรงชี้พระดรรชนีข้างขวาลงสู่พื้นปฐพี แสดงถึงพระราชดำรัส ซึ่งปรากฏตามประวัติการสร้างเมืองเชียงใหม่ว่า “เมืองนี้ข้าศึกจะทำร้ายมิได้ คนไหนมีเงินพันมาอยู่จะได้เงินหมื่น ครั้นมีเงินหมื่นมาอยู่จะมีเงินแสน” อนึ่ง พญางำเมืองซึ่งประทับอยู่เบื้องขวาไขว้พระหัตถ์ขวาไว้เบื้องพระปฤษฎางค์ พระหัตถ์ซ้ายผายมาทางพญาร่วงอย่างเห็นด้วย พลางถวายความเห็นว่า “ชัยภูมิของเมืองนี้ดีจริง เพราะเหตุว่าเนื้อดินมีพรรณรังสี ๕ ประการและประกอบด้วยศุภนิมิตไชยมงคล ๗ ประการ”


พระราชกรณียกิจ ที่สำคัญของพระองค์ โดยสังเขปดังนี้

๑. ทรงสร้างเมืองเอกขึ้น ๒ เมือง ได้แก่ เมืองเชียงราย พ.ศ. ๑๘๐๕ เมืองกุมกาม พ.ศ. ๑๘๓๗ เมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๑๘๓๙
๒. ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการรบ
๓. ทรงนำความเจริญทางด้านศิลปกรรม เกษตรกรรมและพานิชยกรรมสู่ล้านนา
๔. ทรงเป็นนักปกครองที่สามารถและประกอบด้วยคุณธรรมสูงส่ง ทรงนำหลักธรรมทางศาสนามาใช้ในการปกครอง พระปรีชาสามารถในด้านการปกครองอีกเรื่องหนึ่งได้แก่ การวางระเบียบการปกครองหรือกฎระเบียบที่ทรงตราขึ้นไว้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณา พิพากษา ผู้กระทำความผิดเรียกว่า กฎหมายมังรายศาสตร์

ก็จบลงในตอนนี้ ตรงนี้นะครับ สำหรับพระราชประวัติของพญามังราย ครั้งต่อไปหากว่าจะพูดถึงก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะว่าเป็นการพูดถึงในแนวอื่น ๆ

หลายครั้งที่มีคนต้องการทราบว่า ทำไม เขียนคำว่า "พ่อขุนเม็งราย" ผิดว่า "พญามังราย" วันนี้ขอพูดเพียงสั้น ๆ ว่า


-คำว่า "พ่อขุนเม็งราย" เป็นการพูดด้วยผู้เขียนที่เป็นไทยกลางอยากให้มองว่าเป็นไทย (เพราะมังคล้ายกับชื่อของชาวพม่า)
-คำว่า "พญามังราย" เป็นคำที่ใช้เรียกพระมหากษัตริย์ชาวล้านนา เช่น พญากือนา พญางำเมือง เป็นต้น นานแล้วแล้วที่นักวิชาการชาวเหนือได้มีข้อตกลงว่า จะต้องใช้คำว่า "พญา...."

บทความที่เกี่ยวข้อง พระราชประวัติพ่อขุนเม็งราย (พญามังราย) 1

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น