รีวิว แนะนำ แหล่งท่องเที่ยวเชียงราย และกิจกรรมต่างๆ สถานที่สำคัญของเชียงราย ประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์ของแต่ละจังหวัด แล้วท่านจะรู้ที่มาที่ไปของแต่ละชื่อแต่ละเมือง เช่น แม่สาย เชียงแสน ดอยตุง ดอยช้าง ภูชี้ฟ้า สามเหลี่ยมทองคำ กษัตริย์ล้านนา

Custom Search

วัดพระแก้ว จ.เชียงราย

วัดพระแก้ว จ.เชียงราย

วัดพระแก้ว จ.เชียงราย เป็นวัดที่มีความสำคัญหลายด้าน ทั้งด้านการศึกษา  ศิลปะ การปกครอง และเป็นสถานที่ค้นพบพระแก้วมรกต เป็นแห่งแรก ซึ่งเป็นวัดที่น่าสนใจมาก อีกทั้งทางวัดมีกิจกรรม ให้ได้ติดตามและปฏิบัติธรรมตลอดปี

สถานภาพและที่ตั้งของวัด


วัดพระแก้ว  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี  ชนิดสามัญ มีเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา  ตั้งอยู่ที่ถนนไตรรัตน์  ตำบลเวียง  อำเภอเมืองเชียงราย  จังหวัดเชียงราย  ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะจากวัดราษฎร์  เป็นพระอารามหลวง  เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2521

ก่อนที่จะมีชื่อว่าวัดพระแก้ว


เดิมเป็นวัดเก่าแก่  สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน  บริเวณนี้มีไม้ไผ่ชนิดหนึ่งคล้ายไผ่สีสุก  แต่ไม่มีหนาม  ชาวบ้านนิยมนำไปทำคันธนูและหน้าไม้  คงจะมีมากในบริเวณนี้  ชาวเชียงรายจึงเรียกว่า "วัดป่าเยียะ หรือวัดป่าญะ"  ต่อมาในปี พ.ศ.1977  ฟ้าผ่าเจดีย์วัดนี้  จึงได้พบพระพุทธรูปองค์หนึ่งเป็นปูนปั้น แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในอุโบสถ ต่อมาปูนบริเวณพระนาสิก(จมูก) กะเทาะออก เผยให้เป็นลักษณะเป็นแก้วสีเขียว จึงได้แกะปูนที่พอกออกจากองค์พระทั้งหมด จึงปรากฎให้เห็นเป็น พระแก้วมรกต  ชาวบ้านจึงเรียกชื่อเสียใหม่ว่า "วัดพระแก้ว"

วัดนี้จึงเป็นสถานที่ค้นพบพระแก้วมรกต หรือที่เรียกเป็นทางการว่า "พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร" หรือ พระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือ วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานครนั่นเอง

ตำนานพระแก้วมรกต

ตามตำนานโบราณ (พระภิกษุพรหมราชปัญญา แต่งเป็นภาษาบาลีไว้  เมื่อ พ.ศ.2272)  ชื่อหนังสือรัตนพิมพวงศ์  พระนาคเสนเถระเป็นผู้สร้างด้วยเเก้วอมรโกฏิ  ที่เทวดานำมาจากพระอินทร์มาถวาย ที่เมืองปาฏลีบุตร (ปัจจุบัน เมืองปัตนะ รัฐพิหาร อินเดีย)ต่อมาได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานยังที่ต่างๆ ดังนี้

  1. เกาะลังกา
  2. กัมพูชา
  3. อินทาปัฐ (นครวัต)
  4. กรุงศรีอยุธยา
  5. ละโว้ (ลพบุรี)
  6. วชิรปราการ (กำแพงเพชร)
  7. เชียงราย (พ.ศ.1934-1979  ประดิษฐาน 45 ปี)
  8. ลำปาง (พ.ศ.1979-2011  ประดิษฐาน 32 ปี)เ
  9. เชียงใหม่ (พ.ศ.2011-2096  ประดิษฐาน 85 ปี)
 10. เวียงจันทร์ (พ.ศ.2096-2321  ประดิษฐาน 225 ปี)
 11. กรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2321 - ปัจจุบัน)

พระประธานในพระอุโบสถ

พระประธาน ที่ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระแก้ว  จังหวัดเชียงราย  ซึ่งชาวเชียงรายนิยมเรียกกันว่า "พระเจ้าล้านทอง" เป็นพระพุทธรูปสำริด  ปางมารวิชัย  หน้าตักกว้าง 2 เมตร  สูงจากเกตุถึงยอดพระรัศมี 2.80 เมตร  รอบพระเศียร 1.60 เมตร  นั่งขัดสมาธิราบ  พระรัศมีเป็นลักษณะมีดอกบบัวตูมอยู่ในเปลวเพลิง  ชายสังฆาฏิสั้นเหนือรายพระถัน เม็ดพระศกใหญ่  พระหนุเป็นปมใหญ่และชัดมาก 

พระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมเป็นของวัดพระเจ้าล้านทอง  ตำบลเวียง  อำเภอเมืองเชียงราย  ต่อมามีสภาพเป็นวัดร้าง  จึงถูกรื้อไป  และได้อัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานที่วัดดอยงำเมือง  หรือวัดดอยงามเมือง  ต่อมาจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระแก้ว  เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 9 พฤศจิกายน 2504  

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ  สร้างเมื่อ พ.ศ.2433  มีขนาดกว้าง 9.50 เมตร  ยาว 21.85 เมตร  เดิมเป็นพระวิหาร  ต่อมาได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา  ได้ประกอบพิธีผูกพัทสีมา  เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2495  ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ พ.ศ.2503

การบูรณะใหญ่ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2503-2505  ในสมัยพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ (วงศ์  ทานวํโส)  เป็นเจ้าอาวาส  นายหมัด  ไชยา  เป็นช่างผู้ควบคุมการก่อสร้าง  ประกอบพิธีปอยหลวงสมโภช  เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2505
การบูรณะใหญ่ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2543-2545  โดยเปลี่ยนกระเบื้อง  กะเทาะปูนเก่าออก  ฉาบปูนใหม่  ลงรัก-ปิดทอง  เปลี่ยนช่อฟ้า-ใบระกา  บานประตู  หน้าต่าง  ลวดลายภายในเป็นไม้สักทั้งหมด  โดยการควบคุมการก่อสร้างของพระเทพรัตนมุนี เจ้าอาวาส  และนายนพดล  อิงควนิช

พระเจดีย์

พระเจดีย์  เป็นสถานที่ค้นพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)  เมื่อ พ.ศ.1977  เป็นพระเจดีย์ฐานรูปแปดเหลี่ยม  แต่ละเหลี่ยมกว้าง 5.20 เมตร  วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ 9.50 เมตร  เมื่อครั้งท่านเจ้าคุณพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์  เป็นเจ้าอาวาส  ได้มีขออนุญาตกรมศิลปากรบูรณะ  ตั้งแต่ พ.ศ.2495-2497  เสร็จและประกอบพิธีสมโภช  เมื่อวันที่ 3-6 เมษายน 2497

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2535-2540  พระเทพรัตนมุนี (ปัจจุบันคือ พระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะภาค 6) เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว  ได้ขออนุญาตกรมศิลปากรบูรณะและหุ้มทองแผ่นทองแดง  ลงรักปิดทองทั้งองค์

สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  เสด็จมาเป็นประธานพิธียกยอดฉัตรพระเจดีย์  เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2541

อาคารสมเด็จพระพุทธชินวงศ์

อาคารสมเด็จพระพุทธชินวงศ์  เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์งานสมโภชสมณศักดิ์เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ  สุวัณณโชติมหาเถร)  ปฐมสมเด็จของล้านนา เพราะท่านเป็นชาวบ้านดู่ จังหวัดเชียงรายโดยกำเนิด เป็นอาคาร ค.ส.ล. 4 ชั้น  ขนาดกว้าง 25 เมตร  ยาว 40 เมตร  วางศิลาฤกษ์โดยเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์  เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2533  เวลา 07.09 น.  เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2533  เสร็จเมื่อ พ.ศ.2538

หอพิพิธภัณฑ์ "อาคารโฮงหลวงแสงแก้ว"

หอพิพิธภัณฑ์ "อาคารแสงแก้ว"  เป็นอาคาร ค.ส.ล.  ประกบด้วยไม้ทั้งภายในและภายนอก  สูง 2 ชั้น  ทรงล้านนา  ขนาดกว้าง 10 เมตร  ยาว 23.25 เมตร  สำหรับเป็นหอพิพิธภัณฑ์ประจำวัดพระแก้ว  เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538  วางศิลาฤกษ์ โดยคุณแม่อมรา  (แสงแก้ว) มุนิกานนท์  เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2541  และบำเพ็ญกุศลถวายทาน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2543  อันเป็นโอกาสมงคลอายุครบ 7 รอบ  ของคุณแม่อมรา  ซึ่งคุณแม่อมรา  มุนิกานนท์  ได้บริจาคสร้างถวายทั้งหมด

หอพิพิธภัณฑ์ "อาคารโฮงหลวงแสงแก้ว" นี้ ด้านนอกเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ  สุวัณณโชติมหาเถร) และท่านเจ้าคุณพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์  อดีตเจ้าอาวาสวัดพระแก้ว และด้านในอาคารแบ่งเป็นสองชั้น มีทั้งเครื่องอัฏฐบริขารของพระภิกษุผู้มีอุปการคุณทั้งสองรูป ของโบราณทั่วไป และพระธาตุต่างๆ ตลอดถึงพระพุทธรูปหยกจำนวนหลายองค์ นับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญมากอีกแห่งหนึ่ง

นี่คือเรื่องเกี่ยวกับ วัดพระแก้ว จ.เชียงราย ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญอย่างยิ่งทางภาคเหนือ และของจังหวัดเชียงรายเอง ยังมีอะไรใหม่ๆ ให้ติดตามอีกมากมายในวัดนี้ หากท่านได้มาที่เชียงราย ก็ลองเข้าไปเยี่ยมชมได้ วัดเปิดประตูต้อนรับตั้งแต่ ตีห้า ถึง หก โมงเย็น เลยทีเดียว

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น