รีวิว แนะนำ แหล่งท่องเที่ยวเชียงราย และกิจกรรมต่างๆ สถานที่สำคัญของเชียงราย ประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์ของแต่ละจังหวัด แล้วท่านจะรู้ที่มาที่ไปของแต่ละชื่อแต่ละเมือง เช่น แม่สาย เชียงแสน ดอยตุง ดอยช้าง ภูชี้ฟ้า สามเหลี่ยมทองคำ กษัตริย์ล้านนา

Custom Search

ตักบาตรเป็งพุธ ตักบาตรกลางคืน

เป็งปุ๊ด/เป็งพุธ/เดือนเพ็ญวันพุธ ประเพณีตักบาตรกลางคืน

วันพรุ่งนี้ 7 มีนาคม 2555 เป็นวันพระใหญ่ คือ ขึ้น 15 ค่ำ วันพุธ ในภาษาเหนือเรียกว่า "วันเป็งปุ๊ด" หมายถึง วันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธ ตามประเพณีเชื่อว่า เป็นวันที่พระอุปคุต ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่สะดือทะเล ได้ออกมาโปรดสัตว์ โดยการมาบิณฑบาต ซึ่งท่านจะออกมาเฉพาะวันเพ็ญที่ตรงกับวันพุธเท่านั้น จึงทำให้เกิดประเพณีการตักบาตรกลางคืนเกิดขึ้น
นิยมทำกันที่ไหน

ซึ่งความเชื่อในเรื่องนี้ ในประเทศไทยของเราเอง นิยมปฏิบัติกันในภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ที่มีชื่อเสียงในเรื่องนี้ และทำกันอยู่ก็มีสามจังหวัดนี้เป็นหลัก

ข้อสังเกตในเรื่องนี้ คือ นิยมทำกันเฉพาะในภาคเหนือ นั่นเป็นเพราะอิทธิพลความเชื่อที่มีมาจากพม่า ซึ่งปัจจุบันบางทีก็ยังนิยมทำกันอยู่เช่นกัน

ตักบาตรตอนไหน

ประเพณีการตักบาตรกลางคือนี้ จะทำกันในตอนกลางคืน ถ้าทำอย่างเป็นทางการก็คือ เริ่มตั้งแต่ หลังเที่ยงคืนของวันอังคารเป็นต้นไป เช่น ในปีพ.ศ. 2555 นี้ วันพุธที่ 7 มีนาคม 2555 นี้ เป็นวันเดือนเพ็ญ ดังนั้นการบิณฑบาตรจะเริ่มตั้งแต่ หลังเที่ยงคืนของวันอังคาร ที่ 6 เป็นต้นไป ก็คือเริ่มต้นของวันพุธนั้นเอง

ใครเป็นผู้จัดบ้าง

สำหรับการจัดนั้น ในอดีต ในตัวจังหวัดเชียงรายนั้น จะเป็นไปตามอิสระ นั่นคือ ตกดึกมา ชาวบ้านก็เตรียมของที่จะบิณฑบาตไว้ เมื่อมีพระภิกษุสามเณรออกมารับบิณฑบาต (ซึ่งเราถือว่าเป็นเสมือนตัวแทนของพระอุปคุต) ชาวพุทธที่เชื่อเรื่องนี้ก็เริ่มตักบาตรกันได้เลย

แต่ในปัจจุบันนี้ ก็ถูกทางเทศบาลนครเชียงรายเทคโอเวอร์ (take over) จัดงานเอง โดย ร่วมกับทางวัดมิ่งเมือง อ.เมือง จ.เชียงราย จัดพิธีกรรมต่างๆ ก็มีการนิมนต์พระภิกษุสามเณรมาร่วมกันที่นั่น แล้วออกบิณฑบาตไปตามถนนบรรพปราการ เรื่อยไป ในการจัดแบบนี้ มีรูปแบบที่เป็นทางการ ที่ไม่แตกต่างจากที่เราได้ปฏิบัติกันในวันขึ้นปีใหม่ หรือ วันสำคัญอื่นๆ แตกต่างกันแค่ตอนเริ่มต้นขบวนเท่านั้นเอง

จะได้บุญหรือไม่ กับการใส่บาตรกลางคืน

การทำบุญ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ นั่นคือ
1 ผู้ให้ หรือ ผู้ใส่บาตร (ก่อนตักบาตร ยินดีหรือคิดดีหรือไม่ ขณะทำเป็นอย่างไร ทำแล้วคิดอย่างไร)
2 ผู้รับ หรือ พระภิกษุสามเณรที่รับบาตร (เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์)
3 วัตถุ หรือ ข้าวปลาอาหารที่นำไปใส่บาตร (ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ได้คดโกง หรือ ลักขโมยเขามา)

ถ้าทั้ง 3 อย่างนี้ บริสุทธิ์ บุญย่อมเกิดขึ้น

ดังนั้น คืนนี้ หากท่านใดตัองการจะไปร่วมทำบุญ ก็คิดเองครับ ไม่สามารถชักจูงได้ แต่ถ้าไม่อยากทำ ก็สามารถจะไปดูเพื่อเป็นประสบการณ์ของตัวเอง สักครั้งหนึ่งที่ได้มาสู่จังหวัดเชียงราย กับการตักบาตรเป็งพุธ

ขออนุโมทนา ครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น